วันศุกร์ที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2559

สนทนาธรรมเช้าวันศุกร์ที่ 29 กรกฏาคม 2559



 
ปวารณาสูตร ลำดับของอริยบุคคล
 ๓  ๖ #อุภโตภาควิมุติ #ปัญญาวิมุติ
--
สุภาษิตสูตรที่ ๕
[๗๓๘] สาวัตถีนิทาน ฯ
ในสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาครับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุ
เหล่านั้นทูลรับพระพุทธดำรัสของพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้ว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์๔ เป็นวาจาสุภาษิต
ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษ
และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน
องค์ ๔ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ภิกษุในธรรมวินัยนี้
-
ย่อมกล่าวแต่วาจาที่บุคคลกล่าวดีแล้วอย่างเดียว
ไม่กล่าววาจาที่บุคคลกล่าวชั่วแล้ว ๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาที่เป็นธรรมอย่างเดียว
ไม่กล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม ๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักอย่างเดียว
ไม่กล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก ๑
ย่อมกล่าวแต่วาจาจริงอย่างเดียว
ไม่กล่าววาจาเท็จ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔
เหล่านี้แล
เป็นวาจาสุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษ
และเป็นวาจาอันวิญญูชนทั้งหลายไม่ติเตียน ฯ
-
[๗๓๙] พระผู้มีพระภาค ผู้พระสุคตศาสดา
ครั้นตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้จบลงแล้ว
จึงได้ตรัสคาถาประพันธ์ต่อไปอีกว่า
สัตบุรุษทั้งหลาย
ได้กล่าววาจาสุภาษิตว่าเป็นที่หนึ่ง
บุคคลพึงกล่าววาจาที่เป็นธรรม
ไม่พึงกล่าววาจาที่ไม่เป็นธรรม เป็นที่สอง
บุคคลพึงกล่าววาจาอันเป็นที่รัก
ไม่พึงกล่าววาจาอันไม่เป็นที่รัก เป็นที่สาม
บุคคลพึงกล่าววาจาจริง ไม่พึงกล่าววาจาเท็จ เป็นที่สี่
ดังนี้ ฯ
-
ครั้งนั้นแล
ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่ง
ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระผู้มีพระภาค
เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
ข้าแต่พระสุคต เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
เนื้อความนี้จงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด วังคีสะ ฯ
[๗๔๐] ครั้งนั้นแล
ท่านพระวังคีสะได้ทูลสรรเสริญพระผู้มีพระภาค
ด้วยคาถาทั้งหลาย
อันสมควร ณ ที่เฉพาะพระพักตร์ว่า
บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาที่ไม่เป็นเหตุยังตนให้เดือดร้อน
และไม่เป็นเหตุเบียดเบียนผู้อื่น
วาจานั้นแลเป็นสุภาษิต
บุคคลพึงกล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รัก
ที่ชนทั้งหลายชื่นชมแล้ว ไม่ถือเอาคำที่ชั่วช้าทั้งหลาย
กล่าวแต่วาจาอันเป็นที่รักแก่ชนเหล่าอื่น
คำสัตย์แล เป็นวาจาไม่ตาย ธรรมนี้
เป็นของมีมาแต่เก่าก่อน
สัตบุรุษทั้งหลายเป็นผู้ตั้งมั่นแล้วในคำสัตย์
ที่เป็นอรรถและเป็นธรรม
พระพุทธเจ้าตรัสพระวาจาใด ซึ่งเป็นวาจาเกษม
เพื่อให้ถึงพระนิพพาน เพื่อทำที่สุดแห่งทุกข์
พระวาจานั้นแลเป็นสูง
สุดกว่าวาจาทั้งหลาย ดังนี้ ฯ
--
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๒๒๙ ข้อที่ ๗๓๘ - ๗๓๙
---
‪#‎วาจาที่วิญญูชนติเตือนไม่ได้‬
ภิกษุ ท. ! วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการ
เป็นวาจาสุภาษิต
ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษ
และวิญญูชนไม่ติเตียน.
องค์ห้าประการ อย่างไรเล่า ? ห้าประการ คือ :-
‪#‎กล่าวแล้วควรแก่เวลา‬ (กาเลน ภาสิตา โหติ),
‪#‎กล่าวแล้วตามสัจจ์จริง‬ (สจฺจา ภาสิตา โหติ),
‪#‎กล่าวแล้วอย่างอ่อนหวาน‬ (สณฺหา ภาสิตา โหติ),
‪#‎กล่าวแล้วอย่างประกอบด้วยประโยชน์‬ (อตฺถสญฺหิตา ภาสิตา โหติ),
‪#‎กล่าวแล้วด้วยเมตตาจิต‬ (เมตฺตจิตฺเตน ภาสิตา โหติ).
ภิกษุ ท. ! วาจา อันประกอบด้วยองค์ ๕ ประการเหล่านี้แล
เป็นวาจาสุภาษิต
ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.
- ปญฺจก.อํ ๒๒/๒๗๑/๑๙๘
-----------------
‪#‎สุภาษิตวาจา‬ ‪#‎ในฐานะสัมมาวาจา‬
(อีกนัยหนึ่ง)
ภิกษุ ท. ! วาจาอันประกอบด้วยองค์ ๔ ประการ
เป็นวาจาสุภาษิต
ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต
เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.
องค์สี่ประการ
อย่างไรเล่า ? สี่ประการ คือ :-
กล่าวเป็นสุภาษิตเท่านั้น ไม่กล่าวเป็นทุพภาษิต;
กล่าวเป็นธรรมเท่านั้น ไม่กล่าวเป็ นอธรรม;
กล่าววาจาน่ารัก (แก่ผู้ฟัง) เท่านั้น
ไม่กล่าววาจาไม่น่ารัก (แก่ผู้ฟัง);
กล่าววาจาสัจจ์เท่านั้น ไม่กล่าววาจาเหลาะแหละ.
ภิกษุ ท. ! วาจา อันประกอบด้วยองค์ ๔ ประการเหล่านี้แล เป็น วาจา
สุภาษิต ไม่เป็นวาจาทุพภาษิต เป็นวาจาไม่มีโทษและวิญญูชนไม่ติเตียน.
- สุตต. ขุ. ๒๕/๔๑๑/๓๕๖.
------------
ปวารณาสูตรที่ ๗
[๗๔๔] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับที่พระวิหาร
บุพพาราม ปราสาทของนางวิสาขา
ผู้เป็นมารดามิคารเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี
กับพระภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ประมาณ ๕๐๐ รูป
ล้วนเป็นอรหันต์ทั้งหมด ฯ
ก็โดยสมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคเป็นผู้อันภิกษุสงฆ์แวดล้อม
ประทับนั่งในที่แจ้ง
เพื่อทรงปวารณาในวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำ ฯ
ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงตรวจดูเห็นภิกษุสงฆ์
เป็นผู้นิ่งอยู่แล้ว จึงรับสั่งกะภิกษุ
ทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้
เราขอปวารณาเธอทั้งหลายเธอทั้งหลายจะไม่ติเตียน
กรรมไรๆ ที่เป็นไปทางกายหรือทางวาจาของเราบ้างหรือ ฯ
[๗๔๕] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ท่านพระสารีบุตรลุกขึ้นจากอาสนะ
ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว
ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาค
แล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์ทั้งหลายติเตียนกรรมไรๆ
อันเป็นไปทางพระกายหรือทางพระวาจาของพระผู้มีพระภาค
ไม่ได้เลยข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
เพราะว่า พระผู้มีพระภาคทรงยังทาง
ที่ยังไม่เกิดให้เกิดขึ้น
ทรงยังทางที่ยังไม่เกิดมิให้เกิดมี
ทรงบอกทางที่ยังไม่มีผู้บอก
เป็นผู้ทรงรู้ทางทรงรู้แจ้งทาง
ทรงฉลาดในทาง
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
สาวกทั้งหลายในบัดนี้เป็นผู้เดินตามทาง
บัดนี้แลขอปวารณาพระผู้มีพระภาค
พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ
อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของข้าพระองค์บ้างหรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
สารีบุตร เราติเตียนกรรมไรๆ
อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา
ของเธอไม่ได้เลย
สารีบุตร เธอเป็นบัณฑิต
สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญามาก เป็นผู้มีปัญญาแน่นหนา
สารีบุตร เธอเป็นผู้มีปัญญาชวนให้ร่าเริงเป็นผู้มีปัญญาว่องไว
เป็นผู้มีปัญญาหลักแหลม เป็นผู้มีปัญญาสยายกิเลสได้
สารีบุตร โอรสพระองค์ใหญ่ของพระเจ้าจักรพรรดิ
ย่อมยังจักรอันพระราชบิดาให้เป็นไปแล้ว
ให้เป็นไปตามได้โดยชอบ ฉันใด
สารีบุตร เธอก็ฉันนั้นเหมือนกันย่อมยังธรรมจักรอันยอดเยี่ยม
อันเราให้เป็นไปแล้วให้เป็นไปตามได้โดยชอบแท้จริง ฯ
ท่านพระสารีบุตรจึงกราบทูลอีกว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หากว่าพระผู้มีพระภาค
ไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ
อันเป็นไปทางกาย หรือทางวาจาของข้าพระองค์ไซร้
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญก็พระผู้มีพระภาคจะไม่ทรงติเตียนกรรมไรๆ
อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจาของภิกษุ ๕๐๐ รูป
เหล่านี้บ้างหรือ ฯ
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สารีบุตร
เราไม่ติเตียนกรรมไรๆ อันเป็นไปทางกายหรือทางวาจา
ของภิกษุ ๕๐๐ รูปแม้เหล่านี้
สารีบุตร เพราะบรรดาภิกษุ๕๐๐ รูปเหล่านี้
--
ภิกษุ ๖๐ รูปเป็นผู้ได้ #วิชชา ๓
อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้ #อภิญญา ๖
อีก ๖๐ รูป เป็นผู้ได้ #อุภโตภาควิมุติ
ส่วนที่ยังเหลือเป็นผู้ได้ #ปัญญาวิมุติ ฯ
ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะลุกขึ้นจากอาสนะ
ทำผ้าห่มเฉวียงบ่าข้างหนึ่งแล้ว
ประนมอัญชลีเฉพาะพระผู้มีพระภาคแล้ว
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคดังนี้ว่าข้าแต่พระผู้มีพระภาค
เนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์
ข้าแต่พระสุคตเนื้อความนี้ย่อมแจ่มแจ้งกะข้าพระองค์ ฯ
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า เนื้อความนั้นจงแจ่มแจ้งกะเธอเถิด
วังคีสะ ฯ
[๗๔๖] ครั้งนั้นแล ท่านพระวังคีสะ
ได้สรรเสริญพระผู้มีพระภาคในที่เฉพาะพระพักตร์
ด้วยคาถาทั้งหลายอันสมควรว่า
วันนี้เป็นวันอุโบสถที่ ๑๕ ภิกษุ ๕๐๐ รูป
มาประชุมกันแล้ว
เพื่อความบริสุทธิ์ ล้วนเป็นผู้ตัดกิเลส
เครื่องประกอบและเครื่องผูกได้แล้ว เป็นผู้ไม่มีความคับแค้น
เป็นผู้มีภพใหม่สิ้นแล้ว เป็นผู้แสวงหาคุณอันประเสริฐ
พระเจ้าจักรพรรดิห้อมล้อมด้วยอำมาตย์
เสด็จเลียบพระมหาอาณาจักรนี้
ซึ่งมีสมุทรสาครป็นขอบเขตโดยรอบ ฉันใด
สาวกทั้งหลายผู้บรรลุไตรวิชชา ผู้ละมฤตยุราชเสียได้
ย่อมนั่งห้อมล้อมพระผู้มีพระภาค
ผู้ชำนะสงครามแล้ว
เป็นผู้นำพวกอันหาผู้นำอื่นยิ่งกว่าไม่มี ฉันนั้น
พระสาวกทั้งหมดเป็นบุตรของพระผู้มีพระภาค
ผู้ชั่วช้าไม่มีในสมาคมนี้
ข้าพระองค์ขอถวายบังคมพระผู้มีพระภาค
ผู้หักลูกศร คือตัณหาเสียได้
ผู้เป็นเผ่าพันธุ์ พระอาทิตย์ ดังนี้ ฯ
----
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๒๓๑ ข้อที่ ๗๔๔ -๗๔๖
---