วันอาทิตย์ที่ 12 เมษายน พ.ศ. 2563

เคอร์ฟิว โควิด 19 ชาวพุทธเราอยู่กันอย่างไร จะไม่เดือดร้อนกาย ไม่เดือดร้อ...



#เคอร์ฟิว โควิด 19 ชาวพุทธเราอยู่กันอย่างไร..
ไม่เดือดร้อนกาย ไม่เดือดร้อนใจ พึงตน พึงธรรมได้
Cr. https://www.youtube.com/watch?v=BnUNR0gCT3c&t=1296s
เต๋าหดหัว แขน ขาไว้ในกระดอง
ให้ตั้งจิตในกายคตาสติ เสมือนเต่าหดอวัยวะไว้ในกระดอง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว มีเต่าตัวหนึ่ง เที่ยวหา.กินอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่งในเวลาเย็น
สุนัขจิ้งจอกตัวหนึ่งก็ได้เที่ยวหากินอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำน้อยแห่งหนึ่ง ในเวลาเย็น
เต่าได้แลเห็นสุนัขจิ้งจอกซึ่งเที่ยวหากินอยู่ แต่ไกลแล้ว ก็หดอวัยวะ ๕ ทั้งหัว(หดขาทั้ง ๔ มีคอเป็นที่ ๕)
เข้าอยู่ในกระดองของตนเสีย มีความขวนขวายน้อย นิ่งอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฝ่ายสุนัขจิ้งจอกก็ได้แลเห็นเต่าซึ่งเที่ยวหากินอยู่แต่ไกลแล้ว
เข้าไปหาเต่าถึงที่แล้วได้ยืนอยู่ใกล้เต่าด้วยคิดว่า เวลาใดเต่าตัวนี้จักเหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา
เวลานั้นเราจักงับมันฟาดแล้วกัดกินเสีย เวลาใดเต่าไม่เหยียดคอหรือขาข้างใดข้างหนึ่งออกมา เวลานั้น
สุนัขจิ้งจอกก็หมดความอาลัย ไม่ได้โอกาส จึงหลีกไปจากเต่า ฉันใด
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มารผู้ใจบาปอันท่านทั้งหลายเข้าใกล้อยู่เสมอๆ แล้วก็คิดว่า
บางทีเราจะพึงได้โอกาสทางจักษุ หู จมูก ลิ้น กายหรือใจ ของภิกษุเหล่านี้บ้าง เพราะฉันนั้นแล
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่ เห็นรูปด้วยจักษุแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมจักขุนทรีย์ ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษาจักขุนทรีย์
ชื่อว่าถึงความสำรวมในจักขุนทรีย์ฟังเสียงด้วยหู...
ดมกลิ่นด้วยจมูก... ลิ้มรสด้วยลิ้น...
ถูกต้องโผฏฐัพพะด้วยกาย...รู้แจ้งธรรมารมณ์ด้วยใจแล้ว อย่าถือนิมิต อย่าถืออนุพยัญชนะ
จงปฏิบัติเพื่อสำรวมมนินทรีย์ที่เมื่อไม่สำรวมแล้ว จะพึงเป็นเหตุให้อกุศลธรรมอันลามก คือ
อภิชฌาและโทมนัสครอบงำนั้น
ชื่อว่ารักษามนินทรีย์ ชื่อว่าถึงความสำรวมในมนินทรีย์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เวลาใด ท่านทั้งหลายจักเป็นผู้ คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลายอยู่
เวลานั้นมารผู้ใจบาปก็จักหมดความอาลัย ไม่ได้โอกาสหลีกจากท่านทั้งหลายไป
ดุจสุนัขจิ้งจอกหมดความอาลัยหลีกจากเต่า ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ฯ
(ไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๑๙๗/๓๒๐.
(บาลี) สฬา. สํ. ๑๘/๒๒๒/๓๒๐
🙏🙏🙏
(เครื่องวัดความดี/ไม่ดี)
กุศลกรรมบท ๑๐
จุนทะ ! ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่าง
ความสะอาดทางวาจามี ๔ อย่าง
ความสะอาดทางใจมี ๓ อย่าง
จุนทะ ! ความสะอาดทางกายมี ๓ อย่างนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ ละการทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง เว้นขาดจากปาณาติบาต วางท่อนไม้ วางศัสตรา
มีความละอาย ถึงความเอ็นดูกรุณาเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งหลายอยู่.
(๒) ละการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้
เว้นขาดจากการถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ไม่ถือเอาทรัพย์และอุปกรณ์แห่งทรัพย์ อันเจ้าของไม่ได้ให้ ในบ้านก็ดี ในป่าก็ดี ด้วยอาการแห่งขโมย.
(๓) ละการประพฤติผิดในกาม เว้นขาดจากการประพฤติผิดในกาม,
(คือเว้นจากการประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิง หรือ ญาติรักษา อันธรรมรักษา
เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องมาลัย)
ไม่เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น.
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางกาย ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความสะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง นั้นเป็นอย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ ละมุสาวาท เว้นขาดจากมุสาวาท
ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี
ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี
อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า
“บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้,
บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่ารู้
เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าไม่เห็น เมื่อเห็นก็กล่าวว่าเห็น,
เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่น
หรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็ไม่เป็น ผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่.
(๒) ละคำส่อเสียด เว้นขาดจากการส่อเสียด
ได้ฟังจากฝ่ายนี้แล้วไม่เก็บไปบอกฝ่ายโน้น เพื่อแตกจากฝ่ายนี้
หรือได้ฟังจากฝ่ายโน้นแล้วไม่เก็บมาบอกแก่ฝ่ายนี้ เพื่อแตกจากฝ่ายโน้น
แต่จะสมานคนที่แตกกันแล้วให้กลับพร้อมเพรียงกัน
อุดหนุนคนที่พร้อมเพรียงกันอยู่ ให้พร้อมเพรียงกันยิ่งขึ้น
เป็นคนชอบในการพร้อมเพรียง เป็นคนยินดีในการพร้อมเพรียง
เป็นคนพอใจในการพร้อมเพรียง กล่าวแต่วาจาที่ทำให้พร้อมเพรียงกัน.
(๓) ละการกล่าวคำหยาบเสีย เว้นขาดจากการกล่าวคำหยาบ
กล่าวแต่วาจาที่ไม่มีโทษ เสนาะโสต ให้เกิดความรัก
เป็นคำฟูใจ เป็นคำสุภาพที่ชาวเมืองเขาพูดกัน
เป็นที่ใคร่ที่พอใจของมหาชน กล่าวแต่วาจาเช่นนั้นอยู่.
(๔) ละคำพูดเพ้อเจ้อ เว้นขาดจากคำพูดเพ้อเจ้อ
กล่าวแต่ในเวลาอันสมควร กล่าวแต่คำจริง เป็นประโยชน์
เป็นธรรม เป็นวินัย กล่าวแต่วาจามีที่ตั้ง มีหลักฐานที่อ้างอิง
มีเวลาจบ ประกอบด้วยประโยชน์ สมควรแก่เวลา.
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.
จุนทะ ! ความสะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็น อย่างไรเล่า ?
(๑) บุคคลบางคนในกรณีนี้ เป็นผู้ไม่มากด้วยอภิชฌา คือ เป็นผู้ไม่โลภ เพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า
“สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้.
(๒) เป็นผู้ไม่มีจิตพยาบาท มีความดำริแห่งใจอันไม่ประทุษร้ายว่า
“สัตว์ทั้งหลาย จงเป็นผู้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียน ไม่มีทุกข์ มีสุข บริหารตนอยู่เถิด” ดังนี้ เป็นต้น.
(๓) เป็นผู้มีความเห็นถูกต้อง มีทัสสนะไม่วิปริต ว่า
“ทานที่ให้แล้ว มี (ผล), ยัญที่บูชาแล้ว มี (ผล), การบูชาที่บูชาแล้ว มี (ผล),
ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดี ทำชั่ว มี,
โลกอื่น มี, มารดา มี, บิดา มี, โอปปาติกสัตว์ มี,
สมณพราหมณ์ที่ไปแล้วปฏิบัติแล้วโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น
ด้วยปัญญาโดยชอบเองแล้ว ประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็มี” ดังนี้.
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความสะอาดทางใจ ๓ อย่าง.
จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า กุศลกรรมบถ ๑๐.
จุนทะ ! บุคคลประกอบด้วยกุศลกรรมบถ ๑๐ ประการเหล่านี้ ลุกจากที่นอนตามเวลาแห่งตนแล้ว
แม้จะลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่ลูบแผ่นดิน ก็เป็นคนสะอาด;
แม้จะจับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่จับโคมัยสด ก็เป็นคนสะอาด;
แม้จะจับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่จับหญ้าเขียว ก็เป็นคนสะอาด;
แม้จะบำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่บำเรอไฟ ก็เป็นคนสะอาด;
แม้จะไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาด, แม้จะไม่ไหว้พระอาทิตย์ ก็เป็นคนสะอาด;
แม้จะลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาด
แม้จะไม่ลงน้ำในเวลาเย็นเป็นครั้งที่สาม ก็เป็นคนสะอาด.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ?
จุนทะ ! เพราะเหตุว่า กุศลกรรมบถ ๑๐ ประการ เหล่านี้ เป็นตัวความสะอาด และเป็นเครื่องกระทำความสะอาด.
จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยกุศลกรรมบถทั้ง ๑๐ ประการเหล่านี้ เป็นเหตุ
พวกเทพจึงปรากฏ หรือว่าสุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
(ภาษาไทย) ทสก. อํ. ๒๔/๒๘๓-๒๘๙/๑๖๕.
================================
อกุศลกรรมบท ๑๐
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง
ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง
ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางกาย มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้มีปกติทำสัตว์มีชีวิตให้ตกล่วง หยาบช้า มีฝ่ามือเปื้อนด้วยโลหิต มีแต่การฆ่าและการทุบตี ไม่มีความเอ็นดูในสัตว์มีชีวิต
(๒) เป็นผู้มีปกติถือเอาสิ่งของที่มีเจ้าของมิได้ให้ คือวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของบุคคลอื่นที่อยู่ในบ้านหรือในป่าก็ตาม เป็นผู้ถือเอาสิ่งของที่เขาไม่ได้ให้ด้วยอาการแห่งขโมย
(๓) เป็นผู้มีปกติประพฤติผิดในกาม (คือประพฤติผิด) ในหญิง ซึ่งมารดารักษา บิดารักษา พี่น้องชาย พี่น้องหญิงหรือญาติรักษา อันธรรมรักษา เป็นหญิงมีสามี หญิงอยู่ในสินไหม โดยที่สุดแม้หญิงอันเขาหมั้นไว้ (ด้วยการคล้องพวงมาลัย) เป็นผู้ประพฤติผิดจารีตในรูปแบบเหล่านั้น
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางกาย ๓ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางวาจา มี ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้มีปกติกล่าวเท็จ ไปสู่สภาก็ดี ไปสู่บริษัทก็ดี ไปสู่ท่ามกลางหมู่ญาติก็ดี ไปสู่ท่ามกลางศาลาประชาคมก็ดี ไปสู่ท่ามกลางราชสกุลก็ดี อันเขานำไปเป็นพยาน ถามว่า “บุรุษผู้เจริญ ! ท่านรู้อย่างไร ท่านจงกล่าวไปอย่างนั้น” ดังนี้ บุรุษนั้น เมื่อไม่รู้ก็กล่าวว่ารู้ เมื่อรู้ก็กล่าวว่าไม่รู้ เมื่อไม่เห็นก็กล่าวว่าเห็น เมื่อเห็นก็กล่าวไม่เห็น เพราะเหตุตนเอง เพราะเหตุผู้อื่นหรือเพราะเหตุเห็นแก่อามิสไรๆ ก็เป็นผู้กล่าวเท็จทั้งที่รู้อยู่
(๒) เป็นผู้มีวาจาส่อเสียด คือฟังจากฝ่ายนี้แล้ว ไปบอกฝ่ายโน้นเพื่อทำลายฝ่ายนี้ หรือฟังจากฝ่ายโน้นแล้วมาบอกฝ่ายนี้เพื่อทำลายฝ่ายโน้น เป็นผู้ทำคนที่สามัคคีกันให้แตกกัน หรือทำคนที่แตกกันแล้วให้แตกกันยิ่งขึ้น พอใจยินดี เพลิดเพลินในการแตกกันเป็นพวก เป็นผู้กล่าววาจาที่กระทำให้แตกกันเป็นพวก
(๓) เป็นผู้มีวาจาหยาบ อันเป็นวาจาหยาบคาย กล้าแข็ง แสบเผ็ดต่อผู้อื่น กระทบกระเทียบผู้อื่น แวดล้อมอยู่ด้วยความโกรธ ไม่เป็นไปเพื่อสมาธิ เขาเป็นผู้กล่าววาจามีรูปลักษณะเช่นนั้น
(๔) เป็นผู้มีวาจาเพ้อเจ้อ คือเป็นผู้กล่าวไม่ถูกกาล ไม่กล่าวตามจริง กล่าวไม่อิงอรรถ ไม่อิงธรรม ไม่อิงวินัย เป็นผู้กล่าววาจาไม่มีที่ตั้งอาศัย ไม่ถูกกาลเทศะ ไม่มีจุดจบ ไม่ประกอบด้วยประโยชน์
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางวาจา ๔ อย่าง.
จุนทะ ! ความไม่สะอาดทางใจ มี ๓ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า ? จุนทะ ! คนบางคนในกรณีนี้ :-
(๑) เป็นผู้มากด้วยอภิชฌา (ความโลภเพ่งเล็ง) เป็นผู้โลภเพ่งเล็งวัตถุอุปกรณ์แห่งทรัพย์ของผู้อื่น ว่า “สิ่งใดเป็นของผู้อื่น สิ่งนั้นจงเป็นของเรา” ดังนี้
(๒) เป็นผู้มีจิตพยาบาท มีความดำริในใจเป็นไปในทางประทุษร้าย ว่า “สัตว์ทั้งหลายเหล่านี้ จงเดือดร้อน จงแตกทำลาย จงขาดสูญ จงพินาศ อย่าได้มีอยู่เลย” ดังนี้เป็นต้น
(๓) เป็นผู้มีความเห็นผิด มีทัสสนะวิปริตว่า “ทานที่ให้แล้ว ไม่มี (ผล) , ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , การบูชาที่บูชาแล้ว ไม่มี (ผล) , ผลวิบากแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่ว ไม่มี, โลกนี้ ไม่มี, โลกอื่น ไม่มี, มารดา ไม่มี, บิดา ไม่มี, โอปปาติกะสัตว์ ไม่มี, สมณพราหมณ์ผู้ดำเนินไปโดยชอบ ปฏิบัติโดยชอบ ถึงกับกระทำให้แจ้งโลกนี้และโลกอื่น ด้วยปัญญาโดยชอบเอง แล้วประกาศให้ผู้อื่นรู้ ก็ไม่มี” ดังนี้
จุนทะ ! อย่างนี้แล เป็นความไม่สะอาดทางใจ ๓ อย่าง.
จุนทะ ! เหล่านี้แล เรียกว่า อกุศลกรรมบถสิบ.
จุนทะ ! อนึ่ง เพราะมีการประกอบด้วยอกุศลกรรมบถทั้งสิบประการเหล่านี้เป็นเหตุ นรกย่อมปรากฏ กำเนิดเดรัจฉานย่อมปรากฏ เปรตวิสัยย่อมปรากฏ หรือว่าทุคติใดๆ แม้อื่นอีก ย่อมมี.
ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลผู้ประกอบด้วยธรรม ๑๐ ประการเหล่านี้แล ย่อมเป็นเหมือนบุคคลผู้ถูกนำตัวไปเก็บไว้ในนรก.
-บาลี ทสก. อํ. ๒๔/๓๐๕/๑๘๙. — ที่ พุทธวจนสถาบันเชียงราย