วันพฤหัสบดีที่ 25 สิงหาคม พ.ศ. 2559

พุทธวจน การพยากรณ์อรหันตผลโดยไม่น้อมเข้ามาในตน



#การพยากรณ์อรหันตผลโดยไม่น้อมเข้ามาใส่ตน

พรรณนาคุณของพระขีณาสพ
[๓] ครั้งนั้น ท่านพระโสณะบรรลุพระอรหัตแล้ว ได้คิดว่า ถ้ากระไร

#เราพึงพยากรณ์อรหัตผลในสำนักพระผู้มีพระภาค 
แล้วจึงเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถวายบังคมนั่งเฝ้าอยู่ ครั้นแล้ว
ได้กราบทูลคำนี้แด่พระผู้มีพระภาค ว่าดังนี้:-
พระพุทธเจ้าข้า ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว
มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงแล้ว มีประโยชน์ของตนได้ถึงแล้วโดยลำดับ มีกิเลส
เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพหมดสิ้นแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้ชอบ ภิกษุนั้นย่อมน้อมใจ ไปสู่
เหตุ ๖ สถาน คือ
๑. น้อมใจไปสู่บรรพชา
๒. น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด
๓. น้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน
๔. น้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน
๕. น้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา และ
๖. น้อมใจไปสู่ความไม่หลงไหล
พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้อาศัย
คุณแต่เพียงศรัทธาอย่างเดียวเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา ดังนี้พระพุทธเจ้าข้า ก็ข้อนี้ไม่พึง
เห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่า
ตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึงน้อมใจสู่บรรพชา โดยที่ตน
ปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ
จึงน้อมใจไปสู่บรรพชา โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้
ปรารถนาลาภสักการะและความสรรเสริญเป็นแน่ จึงน้อมใจไปในความเงียบสงัด ดังนี้ พระพุทธ-
เจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควรทำได้
ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว จึง
น้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ
เงียบสงัด โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความเงียบสงัด โดยที่ตน
ปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า ก็บางทีจะมีบางท่านในพระธรรมวินัยนี้ สำคัญเห็นเช่นนี้ว่า ท่านผู้นี้
เชื่อถือสีลัพพตปรามาส โดยความเป็นแก่นสารเป็นแน่ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน ดังนี้
พระพุทธเจ้าข้า ข้อนี้ก็ไม่พึงเห็นอย่างนั้นเลย ภิกษุขีณาสพผู้อยู่จบพรหมจรรย์แล้ว มีกิจที่ควร
ทำได้ทำเสร็จแล้ว ไม่เห็นว่าตนยังมีกิจที่จำจะต้องทำ หรือจะต้องกลับสะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว
จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจไปสู่ความ
ไม่เบียดเบียน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่เบียดเบียน
โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ
ไปสู่ความสิ้นอุปาทาน โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นอุปาทาน
โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
... จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ
ไปสู่ความสิ้นตัณหา โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความสิ้นตัณหา
โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
... จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากราคะ เพราะสิ้นราคะ จึงน้อมใจ
ไปสู่ความไม่หลงใหล โดยที่ตนปราศจากโทสะ เพราะสิ้นโทสะ จึงน้อมใจไปสู่ความไม่หลงใหล
โดยที่ตนปราศจากโมหะ เพราะสิ้นโมหะ
พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ
ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้น
อันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็น
ความเกิดและความดับของจิตนั้น
แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ....
แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยฆานะ ....
แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยชิวหา ....
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย ....
แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มี
จิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์
ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด
และความดับของจิตนั้น
พระพุทธเจ้าข้า ภูเขาล้วนแล้วด้วยศิลา ไม่มีช่อง ไม่มีโพรง เป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันออก ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหวสะเทือนสะท้าน
ไม่ได้เลย
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศตะวันตก ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศเหนือ ....
แม้หากลมฝนอย่างแรง พัดมาแต่ทิศใต้ ก็ยังภูเขานั้นให้หวั่นไหว สะเทือนสะท้าน
ไม่ได้เลย แม้ฉันใด.
พระพุทธเจ้าข้า แม้หากรูปารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยจักษุ ผ่านมาสู่คลองจักษุ
ของภิกษุผู้มีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ย่อมไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของ
ภิกษุนั้นอันอารมณ์ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อม
พิจารณาเห็นความเกิดและความดับของจิตนั้น.
แม้หากสัททารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยโสต ....
แม้หากคันธารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยฆานะ ....
แม้หากรสารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบด้วยชิวหา ....
แม้หากโผฏฐัพพารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยกาย ....
แม้หากธรรมารมณ์ที่หยาบ ซึ่งจะพึงทราบชัดด้วยมโน ผ่านมาสู่คลองใจของภิกษุผู้มีจิต
หลุดพ้นแล้วโดยชอบอย่างนี้ ก็ไม่ครอบงำจิตของภิกษุนั้นได้เลย จิตของภิกษุนั้นอันอารมณ์
ไม่ทำให้เจือติดอยู่ได้ เป็นธรรมชาติตั้งมั่นไม่หวั่นไหว และภิกษุนั้นย่อมพิจารณาเห็นความเกิด
และความดับของจิตนั้น ฉันนั้นเหมือนกันแล.
นิคมคาถา
[๔] ภิกษุน้อมไปสู่บรรพชา ๑ ผู้น้อมไปสู่ความเงียบสงัด
แห่งใจ ๑ ผู้น้อมไปสู่ความไม่เบียดเบียน ๑ ผู้น้อมไปสู่
ความสิ้นอุปาทาน ๑ ผู้น้อมไปสู่ความสิ้นตัณหา ๑ ผู้น้อม
ไปสู่ความไม่หลงไหลแห่งใจ ๑ ย่อมมีจิตหลุดพ้นโดย
ชอบ เพราะเห็นความเกิด และความดับแห่งอายตนะ
ภิกษุมีจิตหลุดพ้นแล้วโดยชอบ มีจิตสงบนั้น ไม่ต้องกลับ
สะสมทำกิจที่ได้ทำแล้ว กิจที่จำจะต้องทำก็ไม่มี เปรียบ
เหมือนภูเขาที่ล้วนแล้วด้วยศิลาเป็นแท่งทึบอันเดียวกัน
ทรงอนุญาตรองเท้า
[๕] ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาค รับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ด้วยวิธีอย่างนี้แล
ภิกษุทั้งหลาย
#ที่พวกกุลบุตรพยากรณ์อรหัตกล่าวแต่เนื้อความ #และไม่น้อมเข้าไปหาตน ก็แต่ว่า
#โมฆบุรุษบางจำพวกในธรรมวินัยนี้พยากรณ์อรหัต ทำทีเหมือนเป็นของสนุก ภายหลังต้องทุกข์เดือดร้อน ดังนี้.
-
ต่อแต่นั้นพระองค์รับสั่งกะท่านพระโสณะว่า ดูกรโสณะ เธอเป็นสุขุมาลชาติ
เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียวแก่เธอ.
ท่านพระโสณะกราบทูลว่า ข้าพระพุทธเจ้าละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพล
กอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจากเรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว จักมีผู้กล่าวแก่พระพุทธเจ้าว่า
โสณโกฬิวิสะละเงินประมาณ ๘๐ เล่มเกวียน และละกองพลกอปรด้วยช้าง ๗ เชือก ออกจาก
เรือนบวชเป็นบรรพชิตแล้ว เดี๋ยวนี้ยังข้องอยู่ในเรื่องรองเท้าชั้นเดียว ถ้าพระผู้มีพระภาคจักได้
ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์ แม้ข้าพระพุทธเจ้าจักใช้สอย ถ้าจักไม่ทรงอนุญาตแก่พระภิกษุสงฆ์
แม้ข้าพระพุทธเจ้าก็จักไม่ใช้สอย พระพุทธเจ้าข้า.
ลำดับนั้น พระผู้มีพระภาคทรงทำธรรมีกถา ในเพราะเหตุเป็นเค้ามูลนั้น ในเพราะเหตุ
แรกเกิดนั้น แล้วรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตรองเท้าชั้นเดียว ภิกษุ
ไม่พึงสวมรองเท้า ๒ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้า ๓ ชั้น ไม่พึงสวมรองเท้าหลายชั้น รูปใดสวม
ต้องอาบัติทุกกฏ.
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๕
วินัยปิฎก มหาวรรค ภาค ๒
หน้าที่ ๖ ข้อที่ ๓

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น