วันอังคารที่ 3 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558
พุทธวจน-ห้ามผู้อื่นให้ทานผู้นั้นไม่ใช่มิตร
#ห้ามผู้อื่นให้ทานชื่อว่าไม่ใช่มิตร
https://www.youtube.com/watch?v=s1RnYCWuSCU
ครั้งนั้นแล ปริพาชกผู้วัจฉโคตรได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว นั่งลง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้วได้กราบทูลว่า ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้แก่สาวกของเรานี้แหละ ไม่ควรให้ทานแก่สาวกของคนอื่นๆ ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ ชนเหล่าใดได้กล่าวไว้เช่นนี้พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ไม่ควรให้แก่คนอื่นๆ พึงให้ทานแก่สาวกของเรานี่แหละ ไม่ควรให้แก่สาวกของคนอื่น ทานที่ให้แก่เราเท่านั้นมีผลมาก ที่ให้แก่คนอื่นหามีผลมากไม่ ทานที่ให้แก่สาวกของเราเท่านั้น มีผลมาก ที่ให้แก่สาวกของคนอื่นหามีผลไม่ ดังนี้ ชนเหล่านั้นชื่อว่าพูดตามที่ท่านพระโคดมตรัส ไม่พูดตู่ท่านพระโคดมด้วยคำไม่เป็นจริง และชื่อว่าพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม อนึ่ง การคล้อยตามคำพูดที่ชอบธรรมไรๆ ย่อมไม่มาถึงฐานะที่น่าติเตียนแหละหรือ เพราะข้าพระองค์ไม่ประสงค์ที่จะพูดตู่ท่าน
พระโคดมพระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรวัจฉะ ผู้ใดพูดว่า พระสมณโคดมตรัสว่า พึงให้ทานแก่เราคนเดียว ฯลฯ ทานที่ให้แก่สาวกของคนอื่นๆ หามีผลมากไม่ ดังนี้ผู้นั้นชื่อว่าไม่พูดตามที่เราพูด ทั้งกล่าวตู่เราด้วยคำอันไม่ดี ไม่เป็นจริง ดูกรวัจฉะ ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมกระทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่างเป็นโจรดักปล้น วัตถุ ๓ อย่าง วัตถุ ๓ อย่างเป็นไฉน คือ ย่อมทำอันตรายแก่บุญของทายก ๑ ย่อมทำอันตรายแก่ลาภของปฏิคาหก ๑ ตนของบุคคลนั้น ย่อมเป็นอันถูกกำจัดและถูกทำลายก่อนทีเดียวแล ๑
ดูกรวัจฉะ ผู้ใดแลห้ามผู้อื่นซึ่งให้ทานอยู่ ผู้นั้นชื่อว่าย่อมทำอันตรายแก่วัตถุ ๓ อย่าง เป็นโจรดักปล้นวัตถุ ๓ อย่างนี้ดูกรวัจฉะ ก็เราพูดเช่นนี้ว่าผู้ใดสาดน้ำล้างภาชนะ หรือน้ำล้างขันไปแม้ที่สัตว์ซึ่งอาศัยอยู่ที่บ่อน้ำคลำ หรือที่บ่อโสโครกข้างประตูบ้านด้วยตั้งใจว่าสัตว์ที่อาศัยอยู่ในที่นั้นจงยังอัตภาพให้เป็นไปด้วยสิ่งนั้นเถิด ดังนี้ ดูกรวัจฉะเรากล่าวกรรมซึ่งมีการลาดน้ำล้างภาชนะนั้นเป็นเหตุว่า เป็นที่มาแห่งบุญ จะป่วยกล่าวไปไยถึงในสัตว์มนุษย์เล่า
ดูกรวัจฉะอีกประการหนึ่ง เราย่อมกล่าวว่า ทานที่ให้แก่ท่านผู้มีศีลมีผลมาก ที่ให้ในคนทุศีล หาเหมือนเช่นนั้นไม่ ทั้งท่านผู้มีศีลนั้นเป็นผู้ละองค์ ๕ ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕ ละองค์ ๕ เหล่าไหนได้ คือ ละกามฉันทะ ๑ พยาบาท ๑ ถีนมิทธะ ๑ อุทธัจจกุกกุจจะ ๑ วิจิกิจฉา ๑ ท่านผู้มีศีลละองค์ ๕ นี้ได้แล้ว ประกอบด้วยองค์ ๕ เป็นไฉน คือ ประกอบด้วยศีลขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยสมาธิขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยปัญญาขันธ์ที่เป็นของพระ อเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุตติขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ประกอบด้วยวิมุตติญาณทัสสนขันธ์ที่เป็นของพระอเสขะ ๑ ท่านผู้มีศีลประกอบด้วยองค์ ๕ นี้เรากล่าวว่า ทานที่ให้ในท่านที่ละองค์ ๕ ได้ ประกอบด้วยองค์ ๕ ดังกล่าวมามีผลมาก ฯ
โคอุสุภะที่เขาฝึกแล้ว นำธุระไป สมบูรณ์ด้วยกำลัง ประกอบด้วยเชาว์
อันดี จะเกิดในสีสรรชนิดใดๆ คือ สีดำ สีขาว สีแดง สีเขียว สีด่าง
สีตามธรรมชาติของตนสีเหมือนโคธรรมดา หรือสีเหมือนนกพิลาปก็ดี
ชนทั้งหลายย่อมเทียมมันเข้าในแอก ไม่ต้องใฝ่คำนึงถึงสีสรรของมัน
ฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ผู้ที่ฝึกตนดีแล้วมีวัตรเรียบ
ร้อย ตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล พูดแต่คำสัตย์ มีใจประกอบ
ด้วยหิริ ละชาติ และมรณะได้ มีพรหมจรรย์บริบูรณ์ ปลงภาระลงแล้ว
พ้นกิเลส ทำกิจเสร็จแล้ว หมดอาสวะ รู้จบธรรมทุกอย่าง ดับสนิท
แล้วเพราะไม่ถือมั่น ย่อมจะเกิดได้ในสัญชาติอย่างใดอย่างหนึ่ง ใน
บรรดาสัญชาติเหล่านี้ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร คน
จัณฑาลและคนเทขยะมูลฝอย ในเขตที่ปราศจากธุลีนั้นแล ทักษิณาย่อม
มีผลมาก ส่วนคนพาล ไม่รู้แจ้ง ทรามปัญญา มิได้สดับตรับฟัง ย่อม
พากันให้ทานในภายนอก ไม่เข้าไปหา สัตบุรุษ ก็ศรัทธาของผู้ที่เข้าไปหา
สัตบุรุษ ผู้มีปัญญายกย่องกันว่าเป็นปราชญ์ หยั่งรากลงตั้งมั่นใน
พระสุคต และเขาเหล่านั้นย่อมพากันไปเทวโลก หรือมิฉะนั้นก็เกิดใน
สกุลในโลกนี้ บัณฑิตย่อมบรรลุนิพพานได้โดยลำดับ ฯ
ติก. อํ. ๒๐/๒๐๕/๔๙๗.
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น