วันศุกร์ที่ 10 มิถุนายน พ.ศ. 2559

พระอาจารย์คึกฤทธิ์-สนทนาธรรมเช้าวันอาทิตย์_หลังฉัน_2015-06-07



*ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ*
มรรควิธี ละนันทิ.อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศดึงจิตมาอยู่กับเสาเขื่อน เสาหลัก ลมหายใจ
ประมาณนาทีที่ 37.40 https://www.youtube.com/watch?v=soTnqHPltvs
“ภิกษุทั้งหลาย !
ก็ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ มีอยู่
ดังนี้ คือ บุคคลย่อมตามเห็นด้วยดี
ซึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า :
นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม)
นั่น ไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ)
นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา) …”
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๙๒
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๓๙๐/๘๒๑.
--
http://etipitaka.com/read/thai/14/390/
--
สิ่งใดมิใช่ของเรา
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในกรณีนี้,
สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ, พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย,
สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข
แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สิ่งใดเล่า มิใช่ของพวกเธอ?
ภิกษุทั้งหลาย ! รูปมิใช่ของพวกเธอ,
พวกเธอจงละรูปนั้นเสีย ; รูปนั้น
อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข
แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร
และวิญญาณ ก็ตรัส อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่ง รูป ทุกประการ)
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสําคัญ ความข้อนี้ว่าอย่างไร ?
คือ ข้อที่หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้
ใด ๆ มีอยู่ ในเชตวันนี้,
เมื่อคนเขาขนเอามันไปก็ตาม เผาเสียก็ตาม
หรือ กระทําตามความต้องการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ;
พวกเธอ เคยเกิดความคิดอย่างนี้ บ้างหรือไม่ ว่า
“คนเขาขนเอาเราไปบ้าง เขาเผาเราบ้าง
เขาทําแก่เราตามความปรารถนาของเขาบ้าง” ดังนี้ ?
“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”
ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ?
“เพราะเหตุว่า นั่น หาได้เป็น ตัวตน
หรือของเนื่องด้วยตัวตน ของข้าพระองค์ไม่ พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น, คือ
สิ่งใด มิใช่ของพวกเธอ,
พวกเธอ จงละสิ่งนั้นเสีย;
สิ่งนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน แล.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๒๔๓
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๙๕/๒๘๗ :
http://etipitaka.com/read/thai/12%20/195/
--
‪#‎ผู้ได้ชื่อว่า‬ ‪#‎อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ‬
อานนท์ ! อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศ (อนุตฺตรา อินฺทฺริยภาวนา)
ในอริยวินัย เป็นอย่างไรเล่า ?
อานนท์ ! ในกรณีนี้
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ – ไม่เป็นที่ชอบใจ –
ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุเพราะเห็นรูปด้วยตา.
ภิกษุนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า
“อารมณ์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้
เป็นสิ่งมีปัจจัยปรุงแต่ง (สงฺขต)
เป็นของหยาบ ๆ (โอฬาริก)
เป็นสิ่งที่อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น (ปฏิจฺจ สมุปฺปนฺน);
แต่มีสิ่งโน้นซึ่งรำงับและประณีต, กล่าวคือ อุเบกขา” ดังนี้.
(เมื่อรู้ชัดอย่างนี้)
อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ –
ไม่เป็นที่ชอบใจ -
ทั้งเป็นที่ชอบใจและไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น
ย่อมดับไป, อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! อารมณ์อันเป็นที่ชอบใจ
– ไม่เป็นที่ชอบใจ
- ทั้งเป็นที่ชอบใจ และไม่เป็นที่ชอบใจ
อันบังเกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น
ย่อมดับไป เร็วเหมือนการกระพริบตาของคน
อุเบกขายังคงดำรงอยู่.
อานนท์ ! นี้แล เราเรียกว่า
‪#‎อินทรีย์ภาวนาชั้นเลิศในอริยวินัย‬
ในกรณีแห่ง รูปที่รู้แจ้งด้วยจักษุ.
(ในกรณีแห่ง เสียงที่รู้แจ้งด้วยโสตะ
กลิ่นที่รู้แจ้งด้วยฆานะ รสที่รู้แจ้งด้วยชิวหา
โผฎฐัพพะที่รู้แจ้งด้วยผิวกาย
และ ธรรมารมณ์ที่รู้แจ้งด้วยใจ
ทรงตรัสอย่างเดียวกัน
ต่างกันแต่อุปมาแห่งความเร็วในการดับแห่งอารมณ์นั้น ๆ, คือ
กรณีเสียง เปรียบด้วยความเร็วแห่งการดีดนิ้วมือ,
กรณีกลิ่น เปรียบด้วยความเร็วแห่งหยดน้ำตกจากใบบัว,
กรณีรส เปรียบด้วยความเร็วแห่งน้ำลาย
ที่ถ่มจากปลายลิ้นของคนแข็งแรง,
กรณีโผฏฐัพพะ
เปรียบด้วยความเร็วแห่งการเหยียดแขนพับแขนของคนแข็งแรง,
กรณีธรรมารมณ์
เปรียบด้วยความเร็วแห่งการแห้งของหยดน้ำบนกระทะเหล็ก
ที่ร้อนแดงอยู่ตลอดวัน)
อุปริ. ม. ๑๔/๕๔๒–๕๔๕/๘๕๖–๘๖๑
--------------------------------
กายคตาสติเป็นเสาหลักเสาเขื่อนอย่างดีของจิต
ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษจับสัตว์หกชนิด
อันมีที่อยู่อาศัยต่างกัน มีที่เที่ยวหากินต่างกัน
มาผูกรวมกันด้วยเชือกอันมั่นคง คือ
เขาจับงูมาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่ง,
จับจระเข้, จับนก, จับสุนัขบ้าน, จับสุนัขจิ้งจอกและจับลิง,
มาผูกด้วยเชือกเหนียวเส้นหนึ่งๆ
ครั้นแล้ว นำไปผูกไว้กับเสาเขื่อนหรือเสาหลักอีกต่อหนึ่ง.
ภิกษุทั้งหลาย ครั้งนั้น สัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีที่อาศัยและที่เที่ยวต่างๆ กัน ก็ยื้อแย่งฉุดดึงกัน
เพื่อจะไปสู่ที่อาศัยที่เที่ยวของตนๆ :
งูจะเข้าจอมปลวก, จระเข้จะลงน้ำ,
นกจะบินขึ้นไปในอากาศ, สุนัขจะเข้าบ้าน,
สุนัขจิ้งจอกจะไปป่าช้า, ลิงก็จะไปป่า.
ภิกษุทั้งหลาย ในกาลใดแล
ความเป็นไปภายในของสัตว์ทั้งหกชนิดเหล่านั้น
มีแต่ความเมื่อยล้าแล้ว ;
ในกาลนั้น มันทั้งหลายก็จะพึงเข้าไปยืนเจ่า
นั่งเจ่า นอนเจ่า อยู่ข้างเสาเขื่อนหรือเสาหลักนั้นเอง ข้อนี้ฉันใด ;
ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุใดได้อบรมทำให้มากในกายคตาสติแล้ว
ตา ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารูปที่น่าพอใจ,
รูปที่ไม่น่าพอใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
หู ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาเสียงที่น่าฟัง,
เสียงที่ไม่น่าฟัง ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
จมูก ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหากลิ่นที่น่าสูดดม,
กลิ่นที่ไม่น่าสูดดม ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ลิ้น ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหารสที่ชอบใจ, รสที่ไม่ชอบใจ
ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
กาย ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาสัมผัสที่ยั่วยวนใจ,
สัมผัสที่ไม่ยั่วยวนใจ ก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
และใจ ก็จะไม่ฉุดเอาภิกษุนั้นไปหาธรรมารมณ์ที่ถูกใจ,
ธรรมารมณ์ที่ไม่ถูกใจก็ไม่เป็นสิ่งที่เธอรู้สึกอึดอัดขยะแขยง ;
ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน.
ภิกษุทั้งหลาย คำว่า “เสาเขื่อน หรือ เสาหลัก”
นี้เป็นคำเรียกแทนชื่อ แห่ง กายคตาสติ ..
ภิกษุทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ในเรื่องนี้
พวกเธอทั้งหลายพึงสำเหนียกใจไว้ว่า
“กายคตาสติ ของเราทั้งหลาย จักเป็นสิ่งที่เราอบรม
กระทำให้มากกระทำให้เป็นยานเครื่องนำไป
กระทำให้เป็นของที่อาศัยได้ เพียรตั้งไว้เนืองๆ
เพียรเสริมสร้างโดยรอบคอบ เพียรปรารภสม่ำเสมอด้วยดี” ดังนี้.
ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอทั้งหลาย
พึงสำเหนียกใจไว้ด้วยอาการอย่างนี้แล.
สฬา.สํ.๑๘ / ๒๔๖,๒๔๘ / ๓๔๘,๓๕๐.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น