วันเสาร์ที่ 26 กันยายน พ.ศ. 2558

ให้ทานอย่างไร แล้วได้อานิสงฆ์อย่างไร



#ให้ทานอย่างไร.ได้ความเป็นอริยะ..ให้ทานวางจิตละความตระหนี่..(โสดาปัตติผล.)

(สองพระสูตรที่สอดรับกัน)

‪#‎ได้ผลใหญ่คือ‬..ไปเกิดเป็นเทวดาชั้นพรหม..

‪#‎อานิสงส์ใหญ่คือ‬..หลังจากตายจากพรหมได้อนาคามี.จะปรินิพพานในภพนั้น

‪#‎การวางจิตให้ทาน‬

ลำดับนั้น ท่านพระสารีบุตรพร้อมด้วยอุบาสกชาวเมืองจัมปา

เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงที่ประทับ

ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรข้างหนึ่ง

ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า

-

ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ทานเช่นนั้นนั่นแล

ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

พึงมีหรือหนอแลและทานเช่นนั้นแล

ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก

พึงมีหรือพระเจ้าข้า

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรสารีบุตร

ทานเช่นนั้นนั่นแลที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว

มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก พึงมี

และทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว

มีผลมาก มีอานิสงส์มาก พึงมี ฯ

-

สา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย

เครื่องให้ทานเช่นนั้นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้ ให้แล้ว

มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย

เครื่องให้ทานเช่นนั้นนั่นแล ที่บุคคลบางคนในโลกนี้

ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้

ยังมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน

มุ่งการสั่งสมให้ทาน ให้ทานด้วยคิดว่า

เราตายไปจักได้เสวยผลทานนี้

เขาให้ทาน

คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอม เครื่องลูบไล้

ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์

แก่สมณะหรือพราหมณ์ ดูกรสารีบุตร

เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้ พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น

บุคคลมีความหวังให้ทาน มีจิตผูกพันในผลให้ทาน

มุ่งการสั่งสมให้ทาน

ให้ทานด้วยคิดว่าตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้

เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นจาตุมมหาราช

สิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว

ยังมีผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้

-

ดูกรสารีบุตร ส่วนบุคคลบางคนในโลกนี้

ไม่มีหวังให้ทาน

ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน

ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน

ไม่คิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้

แล้วให้ทาน

แต่ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี

เขาให้ทาน คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้

ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์แก่สมณะหรือพราหมณ์

ดูกรสารีบุตร เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น

บุคคลไม่มีความหวังให้ทาน

ไม่มีจิตผูกพันในผล ให้ทาน

ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี

เขาผู้นั้นให้ทานนั้นแล้ว เมื่อตายไป

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดาวดึงส์

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว

ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

-

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าทานเป็นการดี

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้เคยทำมา

เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นยามา

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้วยังเป็นผู้กลับมา

คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

-

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า

ตา ยายเคยให้เคยทำมา เราก็ไม่ควรทำให้เสียประเพณี

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากิน

สมณะและพราหมณ์เหล่านี้

ไม่หุงหากิน เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์

ผู้ไม่หุงหาไม่สมควร เขาให้ทาน คือ

ข้าว ฯลฯ ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นดุสิต

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศหมดความเป็นใหญ่ แล้วยังเป็นผู้กลับมา

คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

-

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่าเราหุงหากินได้

สมณะและพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้

เราหุงหากินได้ จะไม่ให้ทานแก่สมณะหรือพราหมณ์

ผู้หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

แต่ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน

เหมือนฤาษีแต่ครั้งก่อน คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี

วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี

ภารทวาชฤาษีวาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี

บูชามหายัญ ฉะนั้น

เขาให้ทาน คือ ข้าว ฯลฯ

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นนิมมานรดี

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว

ยังเป็นผู้กลับมา คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนก

แจกทาน เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน

คือ อัฏฐกฤาษี ฯลฯและภคุฤาษี แต่ให้ทานด้วยคิดว่า

เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส

เกิดความปลื้มใจและโสมนัส เขาให้ทาน

คือ ข้าว ฯลฯ

ย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นปรนิมมิตวสวัสดี

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ

หมดความเป็นใหญ่แล้ว ยังเป็นผู้กลับมา

คือ มาสู่ความเป็นอย่างนี้ ฯ

-

ดูกรสารีบุตร บุคคลบางคนในโลกนี้ ฯลฯ

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้

จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เขาให้ทาน

คือ ข้าว น้ำ ผ้า ยาน ดอกไม้ ของหอมเครื่องลูบไล้

ที่นอน ที่พัก ประทีปและเครื่องอุปกรณ์

แก่สมณะหรือพราหมณ์ดูกรสารีบุตร

เธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน

บุคคลบางคนในโลกนี้

พึงให้ทานเห็นปานนี้หรือ ฯ

สา. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสารีบุตร ในการให้ทานนั้น

บุคคลผู้ไม่มีความหวังให้ทาน

ไม่มีจิตผูกพันในผลให้ทาน

ไม่มุ่งการสั่งสมให้ทาน

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราตายไปแล้วจักได้เสวยผลทานนี้

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า การให้ทานเป็นการดี

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า บิดา มารดา ปู่ ย่า ตา ยายเคยให้เคยทำมา

เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้

สมณะ หรือพราหมณ์เหล่านี้หุงหากินไม่ได้

จะไม่ให้ทานแก่ผู้ที่หุงหากินไม่ได้ ไม่สมควร

ไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทาน

เหมือนอย่างฤาษีแต่ครั้งก่อน

คือ อัฏฐกฤาษี วามกฤาษี วามเทวฤาษี เวสสามิตรฤาษี

ยมทัคคิฤาษี อังคีรสฤาษี ภารทวาชฤาษี

วาเสฏฐฤาษี กัสสปฤาษี และภคุฤาษี ผู้บูชามหายัญ ฉะนั้น

และไม่ได้ให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานนี้

จิตจะเลื่อมใส จะเกิดความปลื้มใจและโสมนัส

แต่ให้ทานเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต

เขาให้ทานเช่นนั้นแล้ว

เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงความเป็นสหายแห่งเทวดาชั้นพรหม

เขาสิ้นกรรม สิ้นฤทธิ์ สิ้นยศ หมดความเป็นใหญ่แล้ว

เป็นผู้ไม่ต้องกลับมา คือ ไม่มาสู่ความเป็นอย่างนี้

-

ดูกรสารีบุตร นี้แลเหตุปัจจัย

เป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้ให้แล้ว

มีผลมาก ไม่มีอานิสงส์มาก

และเป็นเครื่องให้ทานเช่นนั้นที่บุคคลบางคนในโลกนี้

ให้แล้ว มีผลมาก มีอานิสงส์มาก ฯ

จบสูตรที่ ๙

พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย

สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 54-57

ทานสูตร

-

‪#‎โสดาบันอยู่ครองเรือน‬

ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการ

ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

-

ธรรม ๔ ประการนั้น เป็นอย่างไรเล่า ?

๔ ประการ คือ :- อริยสาวกในธรรมวินัยนี้

(๑) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระพุทธเจ้า

(๒) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระธรรม

(๓) ประกอบด้วยความเลื่อมใสอันไม่หวั่นไหวในพระสงฆ์

(๔) มีใจปราศจากความตระหนี่อันเป็นมลทิน

มีจาคะอันปล่อยแล้ว มีฝ่ามืออันชุ่ม

ยินดีในการสละ ควรแก่การขอ

ยินดีในการจำแนกทาน อยู่ครองเรือน

ช่างไม้ทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ประกอบด้วยธรรม ๔ ประการเหล่านี้ แล

ย่อมเป็นพระโสดาบัน มีความไม่ตกต่ำเป็นธรรมดา

เป็นผู้เที่ยงแท้ที่จะตรัสรู้ในเบื้องหน้า.

คู่มือโสดาบัน หน้า ๒๑๕

มหาวาร. สํ. ๑๙/๓๕๒/๑๔๕๑.

https://www.youtube.com/watch?v=HNZbmCEv79w&feature=share

3 ความคิดเห็น:

  1. สาธุครับชอบตรงให้ทานเพื่องปรุงแต่งจิตแล้วไปสู่เทวดาชั้นพรหมแล้วไม่ต้องเป็นผู้กลับมา

    ตอบลบ
  2. สาธุครับชอบตรงให้ทานเพื่องปรุงแต่งจิตแล้วไปสู่เทวดาชั้นพรหมแล้วไม่ต้องเป็นผู้กลับมา

    ตอบลบ