วันศุกร์ที่ 8 เมษายน พ.ศ. 2559

พุทธวจน faq การอยู่อย่างมีเพื่อนสอง หมายความว่าอย่างไร_1



#ลักษณะการอยู่แบบมีตัณหาเป็นเพื่อน

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอ

ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง พระเจ้าข้า ?”



มิคชาละ ! รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ  อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา

น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก  เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่.

ถ้าหากว่าภิกษุย่อมเพลิดเพลิน พร่ำสรรเสริญ สยบมัวเมา ซึ่งรูปนั้นไซร้;

แก่ภิกษุผู้เพลิดเพลิน  พร่ำสรรเสริญ  สยบมัวเมา  ซึ่งรูปนั้นอยู่  นั่นแหละ,

นันทิ(ความเพลิน) ย่อมเกิดขึ้น

เมื่อ นันทิ มีอยู่, สาราคะ (ความพอใจอย่างยิ่ง) ย่อมมี;

เมื่อ สาราคะ มีอยู่, สัญโญคะ(ความผูกจิตติดกับอารมณ์) ย่อมมี :

   

มิคชาละ !  ภิกษุผู้ประกอบพร้อมแล้ว ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์ด้วย

อำนาจแห่งความเพลิน นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง”



(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหู, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก,

รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย, และ

ธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ, ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).

มิคชาละ !  ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้  แม้จะส้องเสพเสนาสนะ

อันเป็นป่า และป่าชัฏ  ซึ่งเงียบสงัด  มีเสียงรบกวนน้อย  มีเสียงกึกก้อง

ครึกโครมน้อย  ปราศจากลมจากผิวกายคน  เป็นที่ทำการลับของมนุษย์

เป็นที่สมควร  แก่การหลีกเร้น  เช่นนี้แล้ว  ก็ตาม  ถึงกระนั้น  ภิกษุนั้น

เราก็ยังคงเรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสองอยู่นั่นเอง.

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเพราะเหตุว่า ตัณหานั่นแล  เป็นเพื่อนสอง

ของภิกษุนั้น.ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ยังละไม่ได้แล้วเพราะเหตุนั้น ภิกษุนั้น

เราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างมีเพื่อนสอง” ดังนี้.



“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ด้วยเหตุเพียงเท่าไรหนอแล

ภิกษุจึงชื่อว่า เป็นผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว พระเจ้าข้า !”



มิคชาละ ! รูปทั้งหลายอันจะพึงเห็นได้ด้วยจักษุ อันเป็นรูปที่น่าปรารถนา

น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยอยู่แห่งความใคร่

เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัดย้อมใจ มีอยู่.

ถ้าหากว่าภิกษุย่อมไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา

ซึ่งรูปนั้นไซร้แก่ภิกษุผู้ไม่เพลิดเพลิน ไม่พร่ำสรรเสริญ ไม่สยบมัวเมา

ซึ่งรูปนั้น นั่นแหละ นันทิย่อมดับ



เมื่อ นันทิไม่มีอยู่, สาราคะ ย่อมไม่มี

เมื่อ สาราคะ ไม่มีอยู่, สัญโญคะ ย่อมไม่มี

มิคชาละ !  ภิกษุผู้ไม่ประกอบพร้อมแล้ว  ด้วยการผูกจิตติดกับอารมณ์

ด้วยอำนาจแห่งความเพลิน  นั่นแล เราเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว”

(ในกรณีแห่งเสียงทั้งหลายอันจะพึงได้ยินด้วยหู, กลิ่นทั้งหลายอันจะพึงดมด้วยจมูก,

รสทั้งหลายอันจะพึงลิ้มด้วยลิ้น, โผฏฐัพพะทั้งหลายอันจะพึงสัมผัสด้วยผิวกาย, และ

ธรรมารมณ์ทั้งหลายอันจะพึงรู้แจ้งด้วยใจ, ก็ทรงตรัสอย่างเดียวกัน).

มิคชาละ !  ภิกษุผู้มีการอยู่ด้วยอาการอย่างนี้   แม้อยู่ในหมู่บ้าน

อันเกลื่อนกล่นไปด้วย ภิกษุ  ภิกษุณี  อุบาสก  อุบาสิกาทั้งหลาย

ด้วยพระราชา มหาอำมาตย์ของพระราชาทั้งหลาย

ด้วยเดียรถีย์ สาวกของเดียรถีย์ทั้งหลาย ก็ตาม ถึงกระนั้น

ภิกษุนั้นเราก็เรียกว่า ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียวโดยแท้

 

ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ?  ข้อนั้นเพราะเหตุว่า

ตัณหานั่นแล เป็นเพื่อนสองของภิกษุนั้น;

ตัณหานั้น อันภิกษุนั้น ละเสียได้แล้วเพราะเหตุนั้น

ภิกษุนั้นเราจึงเรียกว่า “ผู้มีการอยู่อย่างอยู่ผู้เดียว” ดังนี้ แล.

อินทรียสังวร (ตามดู ! ไม่ตามไป...)  หน้า ๒๔.

(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๓๔/๖๖-๖๗.

---

(ภิกษุชื่อว่าเถระ มีปรกติอยู่ผู้เดียว)



สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน เขตพระนครราชคฤห์  

สมัยนั้นแล ภิกษุรูปหนึ่งมีชื่อว่าเถระ  มีปรกติอยู่ผู้เดียว  และสรรเสริญการอยู่ผู้เดียว  เธอเป็น

ผู้เดียว  เข้าไปสู่บ้านเพื่อบิณฑบาต  เป็นผู้เดียวเดินกลับ  ย่อมนั่งในที่ลับผู้เดียว  และย่อมเป็น

ผู้เดียวอธิษฐานจงกรม

ครั้งนั้นแล  ภิกษุมากด้วยกันเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค  ถึงที่ประทับ ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว ถวาย

อภิวาท  แล้วนั่ง  ณ  ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง …

     

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !

ภิกษุรูปหนึ่งในพระธรรมวินัยนี้  มีชื่อว่าเถระ มีปรกติอยู่คนเดียว และมีปรกติกล่าวสรรเสริญ

การอยู่คนเดียว พระเจ้าข้า ! …”



ภิกษุ ! เธอจงไปบอกภิกษุชื่อเถระตามคำของเราว่า พระศาสดารับสั่งให้หา

ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้วเข้าไปหาท่านพระเถระถึงที่อยู่ ครั้นเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า

“อาวุโส !  พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน”

ท่านพระเถระรับคำภิกษุนั้นแล้ว  เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ  ครั้นเข้าไปเฝ้าแล้ว

ถวายอภิวาทแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง …

เถระ !  ได้ยินว่าเธอมีปรกติอยู่คนเดียว และมักสรรเสริญการอยู่คนเดียว จริงหรือ ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ! จริง พระเจ้าข้า …”



เถระ !  ก็เธอมีปรกติอยู่คนเดียว และมักกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียวอย่างไร ?

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ  !  ในข้อนี้  คือ  ข้าพระองค์คนเดียว  เข้าไปสู่บ้าน  เพื่อบิณฑบาต   เดินกลับคนเดียว  นั่งในที่ลับคนเดียว  อธิษฐานจงกรมคนเดียว

“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ !  ข้าพระองค์มีปรกติอยู่คนเดียว  และมักกล่าวสรรเสริญการอยู่คนเดียว  อย่างนี้แล



เถระ !  การอยู่คนเดียวนี้มีอยู่  เราจะกล่าวว่าไม่มีก็หาไม่

เถระ !  อนึ่งการอยู่คนเดียวของเธอ  ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า

ด้วยประการใด  เธอจงฟังประการนั้น  จงทำไว้ในใจให้ดี  เราจักกล่าว

เถระ !  ก็การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่าอย่างไร ?

ในข้อนี้

สิ่งใดที่ล่วงไปแล้ว  สิ่งนั้นก็ละได้แล้ว  (อดีต)

สิ่งใดยังไม่มาถึง  สิ่งนั้นก็สละคืนได้แล้ว (อนาคต)

ฉันทราคะ ในการได้อัตภาพที่เป็นปัจจุบัน ถูกกำจัดแล้วด้วยดี

การอยู่คนเดียว ย่อมเป็นอันบริบูรณ์โดยพิสดารกว่า อย่างนี้แล …

(คาถาท้ายพระสูตร)      

เราย่อมเรียกนรชน  ผู้ครอบงำ ขันธ์  อายตนะ ธาตุ

และ ไตรภพทั้งหมดได้ผู้รู้ทุกข์ทุกอย่าง ผู้มีปัญญาดี

ผู้ไม่แปดเปื้อนในธรรมทั้งปวง ผู้ละสิ่งทั้งปวง เสียได้

ผู้หลุดพ้น  ในเพราะนิพพาน  เป็นที่สิ้นตัณหา ว่า

เป็นผู้มีปรกติอยู่คนเดียว ดังนี้ …

(ภาษาไทย) นิทาน. สํ. ๑๖/๒๘๔/๗๑๖-๗๒๑.

---

https://www.youtube.com/watch?v=y5c6W9kR-r8

---

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น