วันเสาร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2559

sapanphud 20150406



‪#‎สดุดีธรรมจักรีวงศ์‬
Cr.เนื้อหาโดย ครูโจ คลิปวีดีโอ โดย คุณชู อนุโมทนา สาธุคะ
https://www.youtube.com/watch?v=K_z5eYcBCG8&feature=share
"พระไตรปิฎก อักษรขอม ฉบับจริง (ที่ลอกมาจาก ลาว+รามัญโดยพระภิกษุสมัยนั้น (ร.1) 200รูป) ที่เก็บไว้ที่
หอพระมณเฑียรธรรม หรือหอพระไตรปิฎกของ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม (หรือวัดพระแก้ว) ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ราชวรมหาวิหาร
หน้าตาเป็นอย่างไร ? อยู่ตรงไหน ของวัดพระแก้ว ครูโจ เช็คมาแล้วเป็นดังนี้ครับ ;
••• หอพระมณเฑียรธรรม พระไตรปิฎก อักษรขอม •••
ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของวัด มีลักษณะเป็นอาคารเครื่องก่อ ทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้าอย่างโบสถ์วิหารทั่วไป หอพระมณเฑียรธรรมที่เห็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นหอพระไตรปิฎกที่สร้างขึ้นแทนหอเดิมกลางสระน้ำ
เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ปฐมกษัตริย์แห่งราชวงศ์จักรี ทรงสถาปนากรุงรัตนโกสินทร์เป็นราชธานี ใน พ.ศ. ๒๓๒๕ นั้น พระองค์มีพระราชดำริ ที่จะเจริญรอยตามพระราชประเพณีของพระมหากษัตริย์ไทยแต่โบราณ ในการสร้างพระราชมณเฑียรใหม่ ใน พ.ศ. ๒๓๒๖ จึงได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สถาปนาพระอารามขึ้นภายในพระบรมมหาราชวัง คือ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม ซึ่งประกอบด้วย พระอุโบสถ พระเจดีย์ พระวิหาร ศาลาราย พร้อมทั้งขุดสระ และสร้างหอพระไตรปิฎกลงในสระ แล้วพระราชทานนามว่า หอพระมณเฑียรธรรม ซึ่งแปลตามรูปศัพท์ หมายถึง เป็นที่สถิตแห่งธรรม โปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่เก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวง และใช้เป็นสถานที่ทำงาน ของบรรดานักปราชญ์ราชบัณฑิต ที่เป็นอาจารย์ทำหน้าที่ตรวจสอบ และบอกพระไตรปิฎก แก่พระสงฆ์สามเณรด้วย เนื่องจากในระหว่างสงครามนั้น หนังสือคัมภีร์ต่างๆ ได้กระจัดกระจายพลัดหายไป มีไม่ครบจบเรื่องเป็นจำนวนมาก พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชมีพระราชประสงค์ที่จะรวบรวม และสร้างขึ้นใหม่ให้ครบ จึงใช้หอพระมณเฑียรธรรมเป็นสถานที่รวบรวมหนังสือของหลวง และโปรดเกล้าฯ ให้กระทำการสังคายนาพระไตรปิฎกขึ้น ที่วัดนิพพานาราม (ปัจจุบันคือ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎ์ราชวรมหาวิหาร) และให้ช่างจารพระไตรปิฎกที่สังคายนาแล้ว ลงใบลานด้วยอักษรขอม ตกแต่งคัมภีร์ ลงรักปิดทองทึบตลอด เป็นฉบับหลวง เรียกว่า ฉบับทองทึบ ในรัชกาลต่อมา มีการสร้างคัมภีร์ปิดทองขึ้นอีก จึงเรียกฉบับทองทึบที่สร้างในรัชกาลที่ ๑ ว่า ฉบับทองใหญ่
เมื่อการสร้างคัมภีร์พระไตรปิฎกฉบับหลวงตามที่สังคายนาสำเร็จใน พ.ศ. ๒๓๓๑ แล้ว ได้อัญเชิญเข้าประดิษฐานในตู้ประดับมุก ตั้งในหอพระมณเฑียรธรรม กลางสระในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม แล้วโปรดเกล้าฯ ให้มีการมหรสพสมโภชพระไตรปิฎก และหอพระมณเฑียรธรรม ในคืนวันสมโภชนั้น เวลาจุดดอกไม้เพลิง ลูกพลุปลิวไปตกลงบนหลังคาหอพระมณเฑียรธรรม เกิดเพลิงไหม้ขึ้น แม้ว่าจะสามารถยกตู้ประดับมุก และขนคัมภีร์พระไตรปิฎกออกมาได้ทั้งหมด แต่เพลิงก็ไหม้หอพระมณเฑียรธรรมหมดทั้งหลัง
พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชจึงโปรดเกล้าฯ ให้ถมสระเดิมนั้น แล้วสร้างพระมณฑปขึ้นแทน สำหรับใช้เป็นที่เก็บพระไตรปิฎกแทนหอพระมณเฑียรธรรมเดิม ที่ถูกเพลิงไหม้ แต่พระมณฑปเล็กและแคบ ไม่พอที่จะเก็บคัมภีร์พระไตรปิฎกของหลวงไว้ได้ทั้งหมด ครั้งนั้นสมเด็จพระอนุชาธิราช กรมพระราชวังบวรมหาสุรสิงหนาท จึงทรงรับอาสาให้ช่างวังหน้า มาสมทบสร้างหอพระมณเฑียรถวายใหม่อีกหลังหนึ่ง ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพระมณฑป
ใน พ.ศ. ๒๓๓๒ การสร้างพระมณฑป และหอพระมณเฑียรธรรมได้สำเร็จบริบูรณ์ จึงได้เชิญตู้ประดับมุก ซึ่งประดิษฐานพระไตรปิฎกฉบับทองใหญ่ มาตั้งไว้ในพระมณฑป ส่วนคัมภีร์ฉบับอื่น ซึ่งเป็นของเดิมเรียกกันว่า ฉบับครูเดิม และที่สร้างขึ้นใหม่นอกจากที่อยู่ในพระมณฑป ให้ใส่ตู้ทองลายรดน้ำ เก็บไว้ในหอพระมณเฑียรธรรม ฉะนั้นจึงมีหนังสือเป็นจำนวนมาก และสมบูรณ์เกือบทุกฉบับ ทำให้หอพระมณเฑียรธรรม มีลักษณะเป็นหอสมุดพระพุทธศาสนาของหลวงหลังแรก แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
..........
ปัจจุบันหอพระมณเฑียรธรรมใช้เป็นที่เก็บคัมภีร์ใบลานเพียงอย่างเดียว ซึ่งเจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ ได้จัดทำบัญชีทะเบียนไว้แล้ว รวมเป็นคัมภีร์พระไตรปิฎก ๑,๑๒๘ คัมภีร์ แบ่งเป็นหมวดพระวินัยปิฎก ๒๐๓ คัมภีร์ หมวดพระสูตร ๗๒๓ คัมภีร์ และหมวดพระอภิธรรม ๒๐๒ คัมภีร์ โดยปกติในหอพระมณเฑียรธรรม ไม่มีเจ้าหน้าที่ประจำอยู่ทุกวัน แต่จะมีกำหนดเปิดเป็นครั้งคราวตามวาระต่อไปนี้
๑. เมื่อมีงานพระราชพิธีที่ต้องใช้พระธรรมเป็นองค์ประกอบ เจ้าหน้าที่สำนักงานวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะแจ้งให้เจ้าหน้าที่หอสมุดแห่งชาติ คัดเลือกคัมภีร์พระไตรปิฎกในหอพระมณเฑียรธรรมออกไปร่วมในงานพระราชพิธีนั้น
๒. เมื่อถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เจ้าหน้าที่สำนักงานวัดพระศรีรัตนศาสดาราม จะเปิดหอพระมณเฑียรธรรม เจ้าพนักงานของสำนักพระราชวัง จะจัดตั้งเครื่องบูชาพานพุ่มดอกไม้ธูปเทียน ในวันอาสาฬหบูชาจะมีผู้แทนพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาเป็นองค์ประธาน ในพิธีถวายเครื่องสักการบูชาพระธรรม
๓. เมื่อมีผู้ประสงค์ที่จะใช้คัมภีร์พระไตรปิฎก เพื่อการอ่าน แปล ตรวจสอบ หรือคัดลอก เฉพาะกรณีคัมภีร์ที่ไม่มีฉบับอื่นอยู่ในหอสมุดแห่งชาติ ทั้งนี้ต้องไม่ขัดต่อระเบียบของทางราชการด้วย
อ้างอิง : http://kanchanapisek.or.th/kp6/sub/book/book.php
••••••••••••••••••••••••

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น