พระเจ้าอชาตศัตรู
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาค ประทับ ณ สวนอัมพวันของหมอชีวกโกมารภัจจ์ ใกล้พระนครราชคฤห์ พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป วันนั้นเป็นวันอุโบสถ ๑๕ ค่ำเป็นวันครบ ๔ เดือน ฤดูดอกโกมุทบาน ในราตรีเพ็ญพระจันทร์เต็มดวง พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่า อชาตศัตรูเวเทหิบุตร แวดล้อมด้วยราชอำมาตย์ประทับนั่ง ณ พระมหาปราสาทชั้นบนขณะนั้น พระองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า
“ดูกรอำมาตย์ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่างน่ารื่นรมย์หนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง ช่างงามจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่างน่าชมจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่างน่าเบิกบานจริงหนอ ราตรีมีดวงเดือนแจ่มกระจ่าง เข้าลักษณะ จริงหนอ วันนี้เราควรจะเข้าไปหาสมณะหรือพราหมณ์ผู้ใดดีหนอ ซึ่งจิตของเราผู้เข้าไปหาพึงเลื่อมใสได้”
ครั้นตรัสอย่างนี้แล้ว อำมาตย์ผู้หนึ่งจึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านปูรณะกัสสป ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ...” กราบทูลอย่างนี้แล้วพระองค์ท่านก็ยังทรงนิ่งอยู่ อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านมักขลิโคศาล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ...” กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ยังทรงนิ่งอยู่ อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านอชิต เกสกัมพล ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ...” กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่ อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านปกุธะ กัจจายนะ ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ..”. กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่ อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านสญชัย เวลัฏฐบุตร ปรากฏว่าเป็นเจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ ...” กราบทูลอย่างนี้แล้วก็ทรงนิ่งอยู่ อำมาตย์อีกคนหนึ่ง จึงกราบทูลว่า “ขอเดชะ ท่านนิครนถ์ นาฏบุตร ปรากฏว่าเป็น เจ้าหมู่ เจ้าคณะ เป็นคณาจารย์มีชื่อเสียง มีเกียรติยศ..”. กราบทูลอย่างนี้แล้ว ก็ทรงนิ่งอยู่
สมัยนั้น หมอชีวกโกมารภัจจ์ นั่งนิ่งอยู่ในที่ไม่ไกลจากพระเจ้าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร จึงมีพระราชดำรัสกะหมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า
“ชีวกผู้สหาย เธอทำไมจึงนิ่งเสียเล่า”
หมอชีวกโกมารภัจจ์ กราบทูลว่า “ขอเดชะ พระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้า ประทับอยู่ ณ สวนอัมพวันของข้าพระพุทธเจ้า พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ หมู่ใหญ่ประมาณ ๑,๒๕๐ รูป พระเกียรติศัพท์อันงามของพระองค์ขจรไปแล้วอย่างนี้ว่า แม้เพราะเหตุนี้ ๆ พระผู้มีพระภาคพระองค์นั้น เป็นพระอรหันต์ ตรัสรู้เองโดยชอบ ถึงพร้อมด้วยวิชชา และจรณะ เสด็จไปดีแล้ว ทรงรู้แจ้งโลก เป็นสารถีฝึกบุรุษที่ควรฝึกไม่มีผู้อื่นยิ่งกว่า เป็นศาสดาของเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นผู้เบิกบานแล้ว เป็นผู้จำแนกพระธรรมดังนี้ เชิญพระองค์ เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคพระองค์นั้นเถิด เห็นด้วยเกล้าฯ ว่า เมื่อพระองค์เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค พระฤทัยพึงเลื่อมใส“
จึงมีพระราชดำรัสว่า “ชีวกผู้สหาย ถ้าอย่างนั้น ท่านจงสั่งให้จัดเตรียมช้างพาหนะไว้.”
หมอชีวกรับพระราชโองการแล้ว สั่งให้กองพลเตรียมช้างพังประมาณ ๕๐๐ เชือก และช้างพระที่นั่ง พร้อมแล้วได้ราบทูลเชิญเสด็จออกจากพระนครราชคฤห์ ด้วยพระราชานุภาพอย่างยิ่งใหญ่ เสด็จไปสวนอัมพวันของหมอชีวก โกมารภัจจ์.
พอใกล้จะถึง พระเจ้าอชาตศัตรูเกิดทรงหวาดหวั่นครั่นคร้าม และ ทรงมีความสยดสยองขึ้น ครั้นทรงกลัว ทรงหวาดหวั่น มีพระโลมชาตชูชันแล้ว จึงตรัส กับหมอชีวก โกมารภัจจ์ว่า
“ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ลวงเราหรือ”
“ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้หลอกเราหรือ”
“ชีวกผู้สหาย ท่านไม่ได้ล่อเรามาให้ศัตรูหรือ เหตุไฉนเล่า ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ ตั้ง ๑,๒๕๐ รูป จึงไม่มีเสียงจาม เสียงกระแอม เสียงพึมพำเลย “
หมอชีวก โกมารภัจจ์กราบทูลว่า “ขอพระองค์อย่าได้ทรงหวาดหวั่นเกรงกลัวเลยพระเจ้าข้า ข้าพระพุทธเจ้าไม่ได้ลวงพระองค์ ไม่ได้หลอกพระองค์ ไม่ได้ล่อพระองค์มาให้ศัตรูเลย พระเจ้าข้า ขอเดชะ เชิญพระองค์เสด็จ เข้าไปเถิด ๆ นั่นประทีปที่โรงกลมยังตามอยู่. “
ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จพระราชดำเนินโดยกระบวนช้างพระที่นั่งไปจนสุดทาง เสด็จลงทรงพระดำเนินเข้าประตูโรงกลมแล้วจึงรับสั่งกะหมอชีวกโกมารภัจจ์ว่า
“ชีวกผู้สหาย ไหนพระผู้มีพระภาค”.
หมอชีวก โกมารภัจจ์ กราบทูลว่า “ขอเดชะ นั่นพระผู้มีพระภาค ประทับนั่งพิงเสากลาง ผินพระพักตร์ไปทางทิศบูรพา ภิกษุสงฆ์แวดล้อมอยู่”
ลำดับนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูเสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค ประทับยืน ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งแล้ว ทรงชำเลืองเห็นภิกษุสงฆ์นิ่งสงบเหมือนห้วงน้ำใส ทรงเปล่งพระอุทานว่า
“ขอให้อุทยภัทท์กุมาร ของเราจงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ดูกรมหาบพิตร พระองค์ เสด็จมาทั้งความรัก”
พระองค์ทูลรับว่า “พระเจ้าข้า อุทยภัทท์กุมารเป็นที่รักของหม่อมฉัน ขอให้อุทยภัทท์กุมารของหม่อมฉันจงมีความสงบอย่างภิกษุสงฆ์เดี๋ยวนี้เถิด.”
ลำดับนั้น ทรงอภิวาทพระผู้มีพระภาค แล้วทรงประนมอัญชลีแก่ภิกษุสงฆ์ ประทับนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง.
ครั้นแล้ว ได้ตรัสพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันจะขอทูลถามปัญหาบางเรื่องสักเล็กน้อย ถ้าพระองค์จะประทานพระวโรกาสพยากรณ์ปัญหาแก่หม่อมฉัน”
พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า “เชิญถามเถิด มหาบพิตร ถ้าทรงพระประสงค์”.
หลังจากนั้น พระเจ้าอชาตศัตรูได้ทูลถาม และพระพุทธองค์ทรงแสดง สามัญผลสูตร พระเจ้าอชาตศัตรูแสดงพระองค์เป็นอุบาสก เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสพระคาถาอย่างนี้แล้ว พระเจ้าแผ่นดินมคธ พระนามว่าอชาตศัตรู เวเทหิบุตร ได้กราบทูลพระดำรัสนี้กะพระผู้มีพระภาคว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันนี้ ขอถึงพระผู้มีพระภาค พระธรรมและพระสงฆ์ว่า เป็นสรณะ ขอพระผู้มีพระภาคจงทรงจำหม่อมฉันว่าเป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป โทษได้ครอบงำหม่อมฉัน ซึ่งเป็นคนเขลา คนหลง ไม่ฉลาด หม่อมฉันได้ปลงพระชนมชีพ พระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมเพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ ขอพระผู้มีพระภาค จงทรงรับทราบความผิดของหม่อมฉันโดยเป็นความผิดจริง เพื่อสำรวมต่อไป”
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า “จริง จริง ความผิดได้ครอบงำมหาบพิตรซึ่งเป็นคนเขลา คนหลงไม่ฉลาด มหาบพิตรได้ปลงพระชนมชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรม เพราะเหตุแห่งความเป็นใหญ่ แต่เพราะมหาบพิตรทรงเห็นความผิดโดยเป็นความผิดจริงแล้ว ทรงสารภาพ ตามเป็นจริง ฉะนั้น อาตมภาพ ขอรับทราบความผิดของมหาบพิตร ก็การที่บุคคลเห็นความผิด โดยเป็นความผิดจริงแล้วสารภาพตามเป็นจริงรับสังวรต่อไป นี้เป็นความชอบในวินัย ของพระอริยเจ้าแล”.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว พระเจ้าอชาตศัตรูได้กราบทูลลาว่า
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าเช่นนั้นหม่อมฉันขอทูลลาไปในบัดนี้ หม่อมฉันมีกิจมาก มีกรณียะมาก”
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า “ขอมหาบพิตรทรงสำคัญเวลา ณ บัดนี้เถิด”
เมื่อเสด็จจากไปไม่นาน พระผู้มีพระภาคตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
“ดูกรภิกษุทั้งหลาย พระราชาพระองค์นี้ถูกขุดเสียแล้ว พระราชาพระองค์นี้ถูกขจัดเสียแล้ว หากท้าวเธอจักไม่ปลงพระชนม์ชีพพระบิดาผู้ดำรงธรรม เป็นพระราชาโดยธรรมไซร้ ธรรมจักษุ ปราศจากธุลี ปราศจากมลทิน จักเกิดขึ้นแก่ท้าวเธอ ณ ที่ประทับนี้ทีเดียว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสคำเป็นไวยากรณ์นี้แล้ว. ภิกษุเหล่านั้นชื่นชมยินดีภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล้วแล”
(ที.สี.ข้อ ๙-๑๔๐,ที.อ.๑/๑/๓๓๗-๔๙๖)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น