วันพุธที่ 13 เมษายน พ.ศ. 2559
พุทธวจน faq ขอคำอธิบาย นั่นไม่ใช่ของเรา, นั่นไม่ใช่เป็นเรา, นั่นไม่ใช่ตั...
อนิจจัง >> ทุกขัง >> อนัตตา >> นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม)
นั่น ไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ)
นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา)
#ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ
“ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ มีอยู่ ดังนี้ คือ บุคคลย่อมตามเห็นด้วยดี ซึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า :
นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม)
นั่น ไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ)
นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา) …”
--
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๙๒
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๓๙๐/๘๒๑
--
อนิจจสัญญา หมายถึง สัญญาในความไม่เที่ยง คือ
รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ นั้นไม่เที่ยง
เป็นไปเพื่ออาพาธ
มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา
มีความเสื่อมสิ้นไปเป็นธรรมดา
มีความจางคลายไปเป็นธรรมดา
มีความดับไปเป็นธรรมดา
เมื่อพิจารณาเห็นอยู่โดยความไม่เที่ยงแห่งสังขารทั้งหลายเหล่านี้
จะละความพอใจกล่าวคือ ฉันทราคะที่มีอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อันเป็นอุปาทานได้
พระศาสดาทรงตรัสว่า
#เมื่อเจริญอนิจจสัญญา
ทุกขสัญญาจะมั่นคง (สัญญาว่าทุกข์ในสิ่งที่ไม่เที่ยง)
#เมื่อทุกขสัญญามั่นคง
อนัตตาสัญญาย่อมมั่นคง (สัญญาว่ามิใช่ตนในสิ่งที่เป็นทุกข์)
#ผู้มีอนัตตสัญญา
ย่อมถึงซึ่งการถอนอัสมิมานะ
คือ นิพพาน ในทิฏฐธรรม นั่นเทียว
---
#เบญจขันธ์เป็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย! รูป เป็นอนัตตา, บุคคล พึงเห็นรูปนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม), นั่น ไม่ใช่เรา (เนโสหมสฺมิ), นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา)” ดังนี้;
ภิกษุทั้งหลาย! เวทนา เป็นอนัตตา, บุคคล พึงเห็นเวทนานั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา, นั่น ไม่ใช่เรา, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังนี้;
ภิกษุทั้งหลาย! สัญญา เป็นอนัตตา, บุคคล พึงเห็นสัญญานั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา, นั่น ไม่ใช่เรา, นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังนี้;
ภิกษุทั้งหลาย! สังขารทั้งหลาย เป็นอนัตตา, บุคคล พึงเห็นสังขารทั้งหลายเหล่านั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม), นั่น ไม่ใช่เรา (เนโสหมสฺมิ), นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโสอตฺตา)” ดังนี้;
ภิกษุทั้งหลาย! วิญญาณ เป็นอนัตตา, บุคคล พึงเห็นวิญญาณนั้น ด้วยปัญญาอันชอบ ตามที่เป็นจริงอย่างนี้ ว่า “นั่น ไม่ใช่ของเรา,
นั่น ไม่ใช่เรา. นั่นไม่ใช่ตัวตนของเรา” ดังนี้ แล.
--
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๒๓๙
(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๒๒/๔๔.
---
#สิ่งใดมิใช่ของเรา
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะฉะนั้นในกรณีนี้, สิ่งใดมิใช่ของพวกเธอ, พวกเธอจงละสิ่งนั้นเสีย, สิ่งนั้นอันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน.
ภิกษุทั้งหลาย ! ก็สิ่งใดเล่า มิใช่ของพวกเธอ?
ภิกษุทั้งหลาย ! รูปมิใช่ของพวกเธอ, พวกเธอจงละรูปนั้นเสีย ; รูปนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน.
(ในกรณีแห่ง เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัส อย่างเดียวกันกับในกรณีแห่ง รูป ทุกประการ)
ภิกษุทั้งหลาย ! พวกเธอจะสําคัญ ความข้อนี้ว่าอย่างไร ?
คือ ข้อที่หญ้า ไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ ใด ๆ มีอยู่ ในเชตวันนี้, เมื่อคนเขาขนเอามันไปก็ตาม เผาเสียก็ตาม หรือ กระทําตามความต้องการ อย่างใดอย่างหนึ่งก็ตาม ; พวกเธอ เคยเกิดความคิดอย่างนี้ บ้างหรือไม่ ว่า “คนเขาขนเอาเราไปบ้าง เขาเผาเราบ้าง เขาทําแก่เราตามความปรารถนาของเขาบ้าง” ดังนี้ ?
“ข้อนั้น หามิได้ พระเจ้าข้า !”
ข้อนั้น เพราะเหตุไรเล่า ?
“เพราะเหตุว่า นั่น หาได้เป็น ตัวตน หรือของเนื่องด้วยตัวตน ของข้าพระองค์ไม่ พระเจ้าข้า !”
ภิกษุทั้งหลาย ! ฉันใดก็ฉันนั้น, คือ สิ่งใด มิใช่ของพวกเธอ, พวกเธอ จงละสิ่งนั้นเสีย; สิ่งนั้น อันพวกเธอละได้แล้ว จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุข แก่พวกเธอเอง ตลอดกาลนาน แล.
---
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๒๔๓
(ภาษาไทย) มู. ม. ๑๒/๑๙๕/๒๘๗
---
#สังขตลักษณะ
ภิกษุทั้งหลาย ! สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม ๓ อย่าง เหล่านี้ มีอยู่.
๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :-
๑. มีการเกิดปรากฏ (อุปฺปาโท ปญฺญายติ);
๒. มีการเสื่อมปรากฏ (วโย ปญฺญายติ);
๓. เมื่อตั้งอยู่ก็มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).
ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ สังขตลักษณะแห่งสังขตธรรม.
--
พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๓๐๔
(ภาษาไทย) ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๖.
---
#อสังขตลักษณะ
ภิกษุทั้งหลาย ! อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม ๓ อย่างเหล่านี้ มีอยู่.
๓ อย่างอย่างไรเล่า ? ๓ อย่างคือ :-
๑. ไม่ปรากฏมีการเกิด (น อุปฺปาโท ปญฺญายติ);
๒. ไม่ปรากฏมีการเสื่อม (น วโย ปญฺญายติ);
๓. เมื่อตั้งอยู่ ก็ไม่มีภาวะอย่างอื่นปรากฏ (น ฐิตสฺส อญฺญถตฺตํ ปญฺญายติ).
ภิกษุทั้งหลาย ! สามอย่างเหล่านี้แล คือ อสังขตลักษณะของอสังขตธรรม.
--
พุทธวจน ปฐมธรรม หน้า ๓๐๕
(ภาษาไทย) ติก. อํ. ๒๐/๑๔๔/๔๘๗.
--
#ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ
“ภิกษุทั้งหลาย ! ก็ ปฏิปทาอันให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งสักกายะ มีอยู่ ดังนี้ คือ บุคคลย่อมตามเห็นด้วยดี ซึ่ง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่า :
นั่น ไม่ใช่ของเรา (เนตํ มม)
นั่น ไม่ใช่เป็นเรา (เนโสหมสฺมิ)
นั่น ไม่ใช่ตัวตนของเรา (น เมโส อตฺตา) …”
--
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๙๒
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๓๙๐/๘๒๑.
--
สัปปายสูตรที่ ๑
ภิกษุทั้งหลาย ! เราจักแสดงข้อปฏิบัติอันเป็นปฏิปทาการเพิกถอนความมั่นหมายในสิ่งทั้งปวง… ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลนั้นย่อม
ไม่สำคัญมั่นหมาย ซึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น
ไม่สำคัญมั่นหมาย ใน ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น
ไม่สำคัญมั่นหมาย โดยความเป็น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น
ไม่สำคัญมั่นหมาย ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น ว่าของเรา
ไม่เพลิดเพลินอย่างยิ่ง ซึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ …
(ภาษาไทย) สฬา. สํ. ๑๘/๒๐/๓๔.
---
#ลำดับการหลุดพ้นโดยละเอียดเมื่อเห็นอนัตตา
ภิกษุทั้งหลาย ! รูปเป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์ สิ่งนั้นเป็นอนัตตา สิ่งใดเป็นอนัตตา สิ่งนั้นนั้น ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่เป็นตัวตนของเรา : เธอทั้งหลายพึงเห็นข้อนั้นด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริง อย่างนี้ ด้วยประการดังนี้.
(ในกรณีแห่งเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งรูปทุกประการ)
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลเห็นข้อนั้น ด้วยปัญญาโดยชอบตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้,
ปุพพันตานุทิฏฐิ (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอดีต) ทั้งหลาย ย่อมไม่มี;
เมื่อปุพพันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, อปรันตานุทิฏฐิทั้งหลาย (ความตามเห็นขันธ์ส่วนอนาคต) ย่อมไม่มี;
เมื่ออปรันตานุทิฏฐิทั้งหลายไม่มี, ความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้า ย่อมไม่มี;
เมื่อความยึดมั่นลูบคลำอย่างแรงกล้าไม่มี, จิตย่อมจางคลายกำหนัด ในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขารทั้งหลาย ในวิญญาณ ย่อมหลุดพ้นจากอาสวะทั้งหลาย เพราะไม่มีความยึดมั่นถือมั่น;
เพราะจิตหลุดพ้นแล้ว
จิตจึงดำรงอยู่ (ตามสภาพของจิต);
เพราะเป็นจิตที่ดำรงอยู่
จิตจึงยินดีร่าเริงด้วยดี;
เพราะเป็นจิตที่ยินดีร่าเริงด้วยดี
จิตจึงไม่หวาดสะดุ้ง;
เมื่อไม่หวาดสะดุ้ง
ย่อมปรินิพพาน (ดับรอบ) เฉพาะตนนั่นเทียว
เธอนั้นย่อมรู้ชัดว่า
“ชาติสิ้นแล้ว, พรหมจรรย์ได้อยู่จบแล้ว,
กิจที่ควรทำ ได้ทำสำเร็จแล้ว,
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก” ดังนี้.
---
ปฐมธรรม หน้า ๓๐๖
(ภาษาไทย) ขนฺธ. สํ. ๑๗/๔๕/๙๓.
--
ผู้ไม่สำคัญมั่นหมายแล้วไม่เกิดนันทิ (ความเพลิน)
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันตามถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ; ภิกษุนั้น ย่อมรู้ยิ่งซึ่งดินโดยความเป็นดิน ; ครั้นรู้ยิ่ง (อภิญฺญา) ซึ่งดินโดยความเป็นดินแล้ว,
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ซึ่งดิน (ปฐวึ น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ในดิน (ปฐวิยา น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย โดยความเป็นดิน (ปฐวิโต น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ว่าดินของเรา (ปฐวิมฺเมติ น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่ง ดิน (ปฐวึ นาภินนฺทติ).
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะดินเป็นสิ่งที่เธอนั้นกำหนดรู้รอบ (ปริญฺญาต) แล้ว.
(ในกรณีแห่งธรรมอื่นอีก ๒๒ อย่าง คือ นํ้า ไฟ ลม ภูตสัตว์ เทพ ปชาบดี พรหม อาภัสสรพรหม สุภกิณหพรหม เวหัปผลพรหม อภิภู อากาสานัญจายตนะ วิญญาณัญจายตะ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รูปที่เห็นแล้ว เสียงที่ได้ยินแล้ว สิ่งที่รู้สึกแล้วทางจมูก,ลิ้น,ผิวกาย สิ่งที่รู้แจ้งแล้ว เอกภาวะ นานาภาวะ และสิ่งทั้งปวง, แต่ละอย่าง ๆ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสไว้โดยระเบียบแห่งถ้อยคำอย่างเดียวกันกับในกรณีแห่งดิน จนกระทั่งถึงกรณีแห่ง นิพพาน ซึ่งจะได้บรรยายด้วยข้อความเต็มอีกครั้งหนึ่งดังต่อไปนี้ อีโมติคอน smile
ภิกษุทั้งหลาย! ภิกษุใด เป็นพระอรหันต์ มีอาสวะสิ้นแล้ว อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ต้องทำสำเร็จแล้ว มีภาระอันปลงลงแล้ว มีประโยชน์ของตนอันตามถึงแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นไปรอบแล้ว เป็นผู้หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ; ภิกษุนั้น ย่อมรู้ยิ่งซึ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพาน ; ครั้นรู้ยิ่ง (อภิญญา) ซึ่งนิพพานโดยความเป็นนิพพานแล้ว.
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ซึ่งนิพพาน (นิพฺพานํ น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ในนิพพาน (นิพฺพานสฺมึ น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย โดยความเป็นนิพพาน (นิพฺพานโต น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่สำคัญมั่นหมาย ว่านิพพานของเรา (นิพฺพานมฺเมติ น มญฺญติ) ;
ย่อม ไม่เพลินอย่างยิ่งซึ่ง นิพพาน (นิพฺพานํ นาภินนฺทติ).
ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า ? ข้อนั้นเรากล่าวว่า เพราะนิพพานเป็นสิ่งที่เธอนั้นกำหนดรู้รอบ (ปริญฺญาต) แล้ว.
--
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๖๔๕
(ภาษาไทย) - มู. ม. ๑๒/๖/๔
https://www.youtube.com/watch?v=a7FxkcCxW08
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น