วันอังคารที่ 30 มิถุนายน พ.ศ. 2558

สัมมาอาชีวะ



สัมมาอาชีวะ..การเลี้ยงช­ีพถูกต้องที่ตถาคตสอน

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ

การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง

การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ

นี้มิจฉาอาชีวะ ฯ

-

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ

ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ

-

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ

เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น

เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะ

ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ

เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น

เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่

สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม

เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

-

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๔๕/๔๑๓ ข้อที่ ๒๕๒-๒๕๕

-

ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เว้นขาดจากการทำเดรัจฉานวิชา

ทรงตรัสไว้กับพระราชาดังนี้ต่อไปนี้



มหาศีล



[๑๑๔] ๑.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่าง สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ ทายอวัยวะ

ทายนิมิต

ทายอุปบาต

ทำนายฝัน

ทำนายลักษณะ

ทำนายหนูกัดผ้า

ทำพิธีบูชาไฟ

ทำพิธีเบิกแว่นเวียนเทียน

ทำพิธีซัดแกลบบูชาไฟ

ทำพิธีซัด รำบูชาไฟ

ทำพิธีซัดข้าวสารบูชาไฟ

ทำพิธีเติมเนยบูชาไฟ

ทำพิธีเติมน้ำมันบูชาไฟ

ทำพิธีเสกเป่า บูชาไฟ

ทำพลีกรรมด้วยโลหิต

เป็นหมอดูอวัยวะ

ดูลักษณะที่บ้าน

ดูลักษณะที่นา

เป็นหมอ ปลุกเสก

เป็นหมอผี

เป็นหมอลงเลขยันต์คุ้มกันบ้านเรือน

เป็นหมองู

เป็นหมอยาพิษ

เป็นหมอแมลงป่อง

เป็นหมอรักษาแผลหนูกัด

เป็นหมอทายเสียงนก

เป็นหมอทายเสียงกา

เป็นหมอทายอายุ

เป็นหมอเสกกันลูกศร

เป็นหมอทายเสียงสัตว์

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.



[๑๑๕] ๒.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

เลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ ทายลักษณะแก้วมณี

ทายลักษณะผ้า

ทายลักษณะไม้พลอง

ทายลักษณะศาตรา

ทายลักษณะดาบ

ทายลักษณะศร

ทายลักษณะธนู

ทายลักษณะอาวุธ

ทายลักษณะสตรี

ทายลักษณะบุรุษ

ทายลักษณะกุมาร

ทายลักษณะกุมารี

ทายลักษณะทาส

ทายลักษณะทาสี

ทายลักษณะช้าง

ทายลักษณะม้า

ทายลักษณะกระบือ

ทายลักษณะโคอุสภะ

ทายลักษณะโค

ทายลักษณะแพะ

ทายลักษณะแกะ

ทายลักษณะไก่

ทายลักษณะนกกระทา

ทายลักษณะเหี้ย

ทายลักษณะตุ่น

ทายลักษณะเต่า

ทายลักษณะมฤค

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอ ประการหนึ่ง.



[๑๑๖] ๓.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ ดูฤกษ์ยาตราทัพว่า

พระราชาจักยกออก

พระราชาจักไม่ยกออก

พระราชาภายในจักยกเข้าประชิด

พระราชาภายนอกจักถอย

พระราชาภายนอกจักยกเข้าประชิด

พระราชาภายในจักถอย

พระราชาภายในจักมีชัย

พระราชาภายนอกจักปราชัย

พระราชาภายนอก จักมีชัย

พระราชาภายในจักปราชัย

พระราชาองค์นี้จักมีชัย

พระราชาองค์นี้จักปราชัย

เพราะเหตุ นี้ๆ แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



[๑๑๗] ๔.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ พยากรณ์ว่า

จักมีจันทรคราส

จักมีสุริยคราส

จักมีนักษัตรคราส

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินถูกทาง

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์จักเดินผิดทาง

ดาวนักษัตรจักเดินถูกทาง

ดาวนักษัตรจักเดินผิดทาง

จักมีอุกกาบาต

จักมีดาวหาง

จักมีแผ่นดินไหว

จักมีฟ้าร้อง

ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักขึ้น

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรจักตก

ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักมัวหมอง

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์ และดาวนักษัตรจักกระจ่าง

จันทรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้

สุริยคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้

นักษัตรคราสจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์เดินผิดทางจักมีผลเป็น อย่างนี้

ดาวนักษัตรเดินถูกทางจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดาวนักษัตรเดินผิดทางจักมีผลเป็นอย่างนี้

มีอุกกาบาตจักมีผลเป็นอย่างนี้

มีดาวหางจักมีผลเป็นอย่างนี้

แผ่นดินไหวจักมีผลเป็นอย่างนี้

ฟ้าร้องจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรขึ้นจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรตกจักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรมัวหมอง จักมีผลเป็นอย่างนี้

ดวงจันทร์ดวงอาทิตย์และดาวนักษัตรกระจ่างจักมีผลเป็นอย่างนี้

แม้ข้อนี้ ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



[๑๑๘] ๕.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ พยากรณ์ว่า

จักมีฝนดี

จักมีฝนแล้ง

จักมีภิกษาหาได้ง่าย

จักมีภิกษา หาได้ยาก

จักมีความเกษม

จักมีภัย

จักเกิดโรค

จักมีความสำราญหาโรคมิได้

หรือนับคะแนน

คำนวณ นับประมวล

แต่งกาพย์ โลกายศาสตร์

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



[๑๑๙] ๖.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ ให้ฤกษ์อาวาหมงคล

ให้ฤกษ์วิวาหมงคล

ดูฤกษ์เรียงหมอน

ดูฤกษ์ หย่าร้าง

ดูฤกษ์เก็บทรัพย์

ดูฤกษ์จ่ายทรัพย์

ดูโชคดี

ดูเคราะห์ร้าย

ให้ยาผดุงครรภ์

ร่ายมนต์

ให้ลิ้นกระด้าง

ร่ายมนต์ให้คางแข็ง

ร่ายมนต์ให้มือสั่น

ร่ายมนต์ไม่ให้หูได้ยินเสียง

เป็นหมอ ทรงกระจก

เป็นหมอทรงหญิงสาว

เป็นหมอทรงเจ้า

บวงสรวงพระอาทิตย์

บวงสรวงท้าวมหาพรหม

ร่ายมนต์พ่นไฟ

ทำพิธีเชิญขวัญ

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



[๑๒๐] ๗.ภิกษุเว้นขาดจากการเลี้ยงชีพ

โดยทางผิดด้วยติรัจฉานวิชา

เช่นอย่างที่สมณพราหมณ์ผู้เจริญบางจำพวก

ฉันโภชนะที่เขาให้ด้วยศรัทธาแล้ว

ยังเลี้ยงชีพโดยทางผิดด้วย ติรัจฉานวิชา เห็นปานนี้

คือ ทำพิธีบนบาน

ทำพิธีแก้บน

ร่ายมนต์ขับผี

สอนมนต์ป้องกัน บ้านเรือน

ทำกะเทยให้กลับเป็นชาย

ทำชายให้กลายเป็นกะเทย

ทำพิธีปลูกเรือน

ทำพิธี บวงสรวงพื้นที่

พ่นน้ำมนต์

รดน้ำมนต์

ทำพิธีบูชาไฟ

ปรุงยาสำรอก

ปรุงยาถ่าย

ปรุงยา

ถ่ายโทษเบื้องบน

ปรุงยาถ่ายโทษเบื้องล่าง

ปรุงยาแก้ปวดศีรษะ

หุงน้ำมันหยอดหู

ปรุงยาตา ปรุงยานัตถุ์

ปรุงยาทากัด

ปรุงยาทาสมาน

ป้ายยาตา

ทำการผ่าตัด

รักษาเด็ก

ใส่ยา ชะแผล

แม้ข้อนี้ก็เป็นศีลของเธอประการหนึ่ง.



[๑๒๑] ดูกรมหาบพิตร ภิกษุสมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้

ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ เลย

เพราะศีลสังวร

นั้นเปรียบเหมือนกษัตริย์

ผู้ได้มุรธาภิเษก

กำจัดราชศัตรูได้แล้ว

ย่อมไม่ประสบภัย

แต่ไหนๆ เพราะราชศัตรูนั้น

ดูกรมหาบพิตร ภิกษุก็ฉันนั้น

สมบูรณ์ด้วยศีลอย่างนี้แล้ว

ย่อมไม่ประสบภัยแต่ไหนๆ

เพราะศีลสังวรนั้น

ภิกษุสมบูรณ์ด้วยอริยศีลขันธ์นี้

ย่อมได้เสวยสุข

อันปราศจากโทษในภายใน

ดูกรมหาบพิตร

ด้วยประการดังกล่าวมานี้แล

ภิกษุชื่อว่าเป็นผู้ถึง พร้อมด้วยศีล.



จบมหาศีล.



พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๙

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑ ทีฆนิกาย สีลขันธวรรค

หน้าที่ ๖๔/๓๘๓ ข้อที่ ๑๑๔-๑๒๑ —

--

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาอาชีวะสัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล

พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘

จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐

-

[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้

ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี

เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น

ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้ว

และกุศลธรรมเป็นอเนก

ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ

-

ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้…

ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้…

ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้…

ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้…

ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้…

ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้…

ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้…

ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้…

ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้

ทั้งอกุศลธรรมลามก เป็นอเนกบรรดามี

เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว

และกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล

จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐

ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ

อันเราให้เป็นไปแล้ว

สมณะ หรือ พราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม

หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้ ฯ

-

[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์

ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียน

คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้

การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ

อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น

ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว

-

ถ้าใครติเตียนสัมมาทิฐิ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฐิผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ

เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสมาธิผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวิมุตติผิด ฯ

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง

พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้

การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ

อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น

ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะ ชาวอุกกลชนบท

ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ

ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน

ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ

นั่นเพราะเหตุไร เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว

ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี

พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

-

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๔๕/๔๑๓ ข้อที่ ๒๕๒-๒๕๕

--

อ่านพุทธวจน เพิ่มเติมได้จากโปรแกรม E-Tipitaka ;

http://etipitaka.com/read/thai/14/145/

--

https://www.youtube.com/watch?v=VqJXa5Uj6Nc

1 ความคิดเห็น: