วันพุธที่ 28 กันยายน พ.ศ. 2559

อาหาร 4 ว่าด้วยลักษณะอาหารสี่ โดยอุปมา

อาหาร 4 ว่าด้วยลักษณะอาหารสี่ โดยอุปมา :
วิธีปฏิบัติต่ออาหารที่สี่ ในลักษณะที่เป็นปฏิจจสมุปบาท ว่าด้วยลักษณะอาหารสี่ โดยอุปมา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้ ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของภูตสัตว์ทั้งหลาย หรือว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่สัมภเวสีสัตว์ทั้งหลาย.
อาหาร ๔ อย่าง เป็นอย่างไรเล่า? สี่อย่างคือ
(๑) กพฬีการาหาร ที่หยาบบ้าง ละเอียดบ้าง
(๒) ผัสสะ
(๓) มโนสัญเจตนา
(๔) วิญญาณ.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! อาหาร ๔ อย่างเหล่านี้แล ย่อมเป็นไปเพื่อความดำรงอยู่ของภูตสัตว์ทั้งหลาย หรือว่า เพื่ออนุเคราะห์แก่สัมภเวสีทั้งหลาย.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ก็กพฬีการาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เปรียบเหมือนภรรยาสามีสองคน ถือเอาสะเบียงสำหรับเดินทางเล็กน้อย เดินไปสู่หนทางอันกันดาร สองสามีภรรยานั้น มีบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูอยู่คนหนึ่งเมื่อขณะเขาทั้งสองกำลังเดินไปตามทางอันกันดารอยู่นั้น สะเบียงสำหรับเดินทางที่เขามีอยู่เพียงเล็กน้อยนั้น ได้หมดสิ้นไป หนทางอันกันดารนั้น ยังเหลืออยู่ เขาทั้งสองนั้นยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนั้นไปได้ ครั้งนั้นแล สองภรรยาสามีนั้นได้มาคิดกันว่า
"สะเบียงสำหรับเดินทางของเราทั้งสองที่มีอยู่เพียงเล็กน้อยนี้ได้หมดสิ้นลงแล้ว หนทางอันกันดารนี้ยังเหลืออยู่ ทั้งเราก็ยังไม่เดินข้ามหนทางอันกันดารนี้ไปได้ อย่ากระนั้นเลย เราทั้งสองคนพึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนี้เสีย แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้ออย่าง บริโภคเนื้อบุตรนี้แหละเดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นี้กันเถิด เพราะถ้าไม่ทำ เช่นนี้ พวกเราทั้งสามคนจะต้องพากันพินาศหมดแน่" ดังนี้.
ครั้งนั้นแล ภรรยาสามีทั้งสองนั้น จึงฆ่าบุตรน้อยคนเดียวผู้น่ารักน่าเอ็นดูนั้น แล้วทำให้เป็นเนื้อเค็มและเนื้อย่าง บริโภคเนื้อบุตรนั้นเทียว เดินข้ามหนทางอันกันดารที่ยังเหลืออยู่นั้น สอง ภรรยาสามีนั้น บริโภคเนื้อบุตรไปพลางพร้อมกับค่อนอกไปพลาง รำพันว่า "บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย บุตรน้อยคนเดียวของเราไปไหนเสีย" ดังนี้
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนี้ว่าอย่างไร?
สองภรรยาสามีนั้นจะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร เพื่อความเพลิดเพลินสนุกสนานบ้าง เพื่อความมัวเมาบ้าง เพื่อความประดับประดาบ้าง หรือเพื่อตบแต่ง (ร่างกาย) บ้าง หรือหนอ?
ภิกษุทั้งหลายเหล่านั้นกราบทูลว่า "ข้อนั้นหาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า!" แล้วตรัสต่อไปว่า "ถ้าอย่างนั้นสองภรรยาสามีนั้น จะพึงบริโภคเนื้อบุตรเป็นอาหาร" เพียงเพื่อ (อาศัย) เดินข้ามหนทางอันกันดารเท่านั้น ใช่ไหม? "ใช่ พระเจ้าข้า!".
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ข้อนี้มีอุปมาฉันใด,เราย่อมกล่าวว่า กพฬีการาหาร อันอริยสาวกพึงเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนเนื้อบุตร) ฉันนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เมื่อกพฬีการาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, ราคะ(ความกำหนัด)ที่มีเบญจกามคุณเป็นแดนเกิด ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย; เมื่อราคะที่มีเบญจกามคุณเป็นแดนเกิด เป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้ว, สังโยชน์ชนิดที่อริยสาวกประกอบเข้าแล้วจะพึงเป็นเหตุให้มาสู่โลกนี้ได้อีก ย่อมไม่มี.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็ผัสสาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเหมือนแม่โคนมที่ปราศจากหนังห่อหุ้ม: ถ้าแม่โคนมนั้นพึงยืนพิงฝาอยู่ไซร้ มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยฝาเจาะกิน; ถ้าแม่โคนมนั้นพึงยืนพิงต้นไม้อยู่ไซร้ มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยต้นไม้ไชกิน; ถ้าหากแม่โคนมนั้นจะพึงลงไปแช่น้ำอยู่ไซร้ มันก็พึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยน้ำ ตอดกัดกิน; ถ้าหากแม่โคนมนั้นจะพึงยันอาศัยอยู่ในที่โล่งแจ้งไซร้ มันก็จะพึงถูกพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในอากาศเกาะกัดจิกกิน
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! แม่โคนมที่ปราศจากหนังหุ้มนั้น จะพึงไปอาศัยอยู่ในสถานที่ใด ๆ ก็ตาม มันก็จะพึงถูกจำพวกสัตว์ที่อาศัยอยู่ในสถานที่นั้น ๆ กัดกินอยู่ร่ำไป, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราย่อมกล่าวว่า ผัสสาหาร อันอริยสาวกพึงเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนแม่โคนมที่ปราศจากหนังห่อหุ้ม) ฉันนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อผัสสาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เวทนาทั้งสาม ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย; เมื่อเวทนาทั้งสาม เป็นสิ่งที่อริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เราย่อมกล่าวว่า "สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น" ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็มโนสัญเจตนาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เปรียบเสมือนหลุมถ่านเพลิง ลึกเกินกว่าชั่วบุรุษหนึ่ง เต็มด้วยถ่านเพลิงที่ปราศจากเปลวและปราศจากควันมีอยู่. ครั้งนั้น บุรุษหนึ่ง ผู้ต้องการเป็นอยู่ ไม่อยากตาย รักสุข เกลียดทุกข์ มาสู่ที่นั้น. และมีบุรุษที่มีกำลังกล้าแข็งอีกสองคน จับบุรุษนั้น ที่แขนแต่ละข้าง แล้วฉุดคร่าพาไปยังหลุมถ่านเพลิงนั้น. ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ครั้งนั้นแล บุรุษนั้น มีความคิด ความปรารถนา ความตั้งใจ ที่จะให้ห่างไกลหลุมถ่านเพลิงนั้น.ข้อนั้นเพราะเหตุไรเล่า?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้นเพราะเหตุว่าบุรุษนั้น ย่อมรู้ว่า "ถ้าเราจักตกลงไปยังหลุมถ่านเพลิงนี้ไซร้ เราก็จะพึงถึงความตาย หรือได้รับทุกข์เจียนตาย เพราะข้อนั้นเป็นเหตุ" ดังนี้, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวว่า มโนสัญเจตนาหาร อันอริยสาวกพึงเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนหลุมถ่านเพลิง) ฉันนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อมโนสัญเจตนาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, ตัณหาทั้งสาม ย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย; เมื่อตัณหาทั้งสามเป็นสิ่งที่อริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เราย่อมกล่าวว่า "สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยสาวกนั้น" ดังนี้.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! ก็วิญญาณณาหาร จะพึงเห็นได้อย่างไร?
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนพวกเจ้าหน้าที่จับโจรผู้กระทำผิดได้แล้ว แสดงแก่พระราชาว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ! โจรผู้นี้เป็นผู้กระทำผิดต่อใต้ฝ่าละอองธุลีพระบาท ขอใต้ฝาละอองธุลีพระบาท จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ลงโทษโจรผู้นี้ตามที่ทรงเห็นสมควรเถิด พระพุทธเจ้าข้า". พระราชามีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงไป จงประหารชีวิตบุรุษนี้เสียด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเช้านี้" เจ้าหน้าที่เหล่านั้น จึงประหารนักโทษด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเช้า ต่อมาในเวลาเที่ยงวัน พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอย่างนี้ว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! นักโทษคนนั้น เป็นอย่างไรบ้าง?". พวกเขาพากันกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ! นักโทษนั้นยังมีชีวิตอยู่ตามเดิม พระพุทธเจ้าข้า !". พระราชาทรงมีพระกระแสรับสั่งอย่างนี้ว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงไป จงประหารนักโทษนั้นเสีย ด้วยหอกร้อยเล่มในเวลาเที่ยงวัน" ดังนี้. พวกเจ้าหน้าที่เหล่านั้นจึงได้ประหารนักโทษนั้นด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเที่ยงวัน. ต่อมา ในเวลาเย็น พระราชาทรงซักถามเจ้าหน้าที่เหล่านั้นอีกว่า "ดูก่อนท่านผู้เจริญทั้งหลาย ! นักโทษนั้นเป็นอย่างไรบ้าง? "เขาพากันกราบทูลว่า "ข้าแต่พระองค์ผู้สมมติเทพ ! นักโทษนั้นยังมีชีวิตอยู่ตามเดิมพระพุทธเจ้าข้า!". พระราชาทรงมีพระกระแสรับสั่งอีกว่า "ดูก่อนท่านทั้งหลาย ! ท่านทั้งหลายจงไป จงประหารนักโทษนั้นเสียด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น" ดังนี้. เจ้าหน้าที่เหล่านั้น จึงได้ประหารนักโทษนั้นด้วยหอกร้อยเล่ม ในเวลาเย็น
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลายจะสำคัญความข้อนั้น ว่าอย่างไร?
บุรุษนักโทษนั้นถูกพวกเจ้าหน้าที่ประหารอยู่ด้วยหอกสามร้อยเล่ม ตลอดทั้งวัน เขาจะพึงเสวยแต่ทุกขโทมนัสที่มีข้อนั้นเป็นเหตุ เท่านั้นมิใช่หรือ? ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุรุษนักโทษนั้น ถูกพวกเจ้าหน้าที่ประหารด้วยหอกแม้ (เล่มเดียว) นั่น ก็พิงเสวยทุกขโทมนัสที่มีข้อนั้นเป็นเหตุ (มากอยู่แล้ว) ก็จะกล่าวไปไยถึงการที่บุรุษนักโทษนั้นถูกประหารด้วยหอกสามร้อยเล่มเล่า, ข้อนี้มีอุปมาฉันใด; ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! เราย่อมกล่าวว่า วิญญาณาหาร อันอริยสาวกพึงเห็น (ว่ามีอุปมาเหมือนนักโทษถูกประหารนั้น) ฉันนั้น.
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อวิญญาณาหาร อันอริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, นามรูปย่อมเป็นสิ่งที่อริยสาวกนั้นกำหนดรู้ได้แล้วด้วย; เมื่อนามรูปเป็นสิ่งที่อริยสาวกกำหนดรู้ได้แล้ว, เราย่อมกล่าวว่า "สิ่งไร ๆ ที่ควรกระทำให้ยิ่งขึ้นไป (กว่านี้) ย่อมไม่มีแก่อริยาสาวกนั้น", ดังนี้ แล.
ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๓๒๓-๓๓๔
(ไทย) นิทาน. สํ.๑๖/๙๖/๒๔๐-๒๔๙ : คลิกดูพระสูตร
(บาลี) นิทาน. สํ.๑๖/๑๑๘/๒๔๐-๒๔๙
**************
********
ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คือ โภชเนมัตตัญญุตา เป็นไฉน?
ภิกษุในธรรมวินัยนี้ พิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ฉันอาหาร ไม่ฉันเพื่อเล่น ไม่ฉันเพื่อมัวเมา ไม่ฉันเพื่อประดับ ไม่ฉันเพื่อตกแต่ง ฉันเพื่อความตั้งอยู่แห่งกายนี้ เพื่อจะให้กายนี้เป็นไป เพื่อเว้นความลำบากแห่งกายนี้ เพื่ออนุเคราะห์แก่พรหมจรรย์ ด้วยมนสิการว่า เราจะบำบัดเวทนาเก่า จักไม่ให้เวทนาใหม่เกิดขึ้น และความดำเนินของเรา ความที่เราไม่มีโทษ ความอยู่สบายของเราจักมี ดังนี้ อย่างเดียวเท่านั้น พิจารณาอาหารเปรียบด้วยน้ำมันสำหรับหยอดเพลาเกวียน ผ้าสำหรับปิดแผล และเนื้อบุตร (ของคนที่เดินทางกันดาร)
ชื่อว่าประพฤติในธรรมเป็นส่วนสุดรอบคือ โภชเนมัตตัญญุตา ย่อมไม่ทำลายโภชเนมัตตัญญุตา อันเป็นเขตแดนในภายใน นี้ชื่อว่า ธรรมเป็นส่วนสุดรอบ คือ โภชเนมัตตัญญุตา.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๒๘๙
(ไทย) มหานิ. ขุ. ๒๙/๔๖๖/๙๓๑.
************
********
หลักที่ควรรู้เกี่ยวกับ เวทนา
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อที่เรากล่าวว่า
“พึงรู้จักเวทนา, พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของเวทนา, พึงรู้จักความเป็นต่างกันของเวทนา, พึงรู้จักผลของเวทนา, พึงรู้จักความดับไม่เหลือของเวทนา, และพึงรู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของเวทนา” ดังนี้นั้น, เรากล่าวหมายถึงอะไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ข้อนั้น เรากล่าวหมายถึง เวทนาสาม เหล่านี้; คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา และอทุกขมสุขเวทนา.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหตุเป็นแดนเกิดของเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ผัสสะ (การประจวบกันแห่งอายตนะภายใน และภายนอก และวิญญาณ) เป็นเหตุเป็นแดนเกิดของเวทนา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความเป็นต่างกันของเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! สุขเวทนา ที่เจือด้วยอามิส (กามคุณ ๕) ก็มี สุขเวทนา ที่ไม่เจือด้วยอามิส (ไม่มีกามคุณ ๕) ก็มี; ทุกขเวทนา ที่เจือด้วยอามิสก็มี ทุกขเวทนา ที่ไม่เจือด้วยอามิสก็มี; อทุกขมสุขเวทนา ที่เจือด้วยอามิสก็มี อทุกขมสุขเวทนาที่ไม่เจือด้วยอามิสก็มี.
ภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า ความเป็นต่างกันของเวทนา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ผลของเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อเสวยเวทนาใดอยู่ ยังอัตภาพซึ่งเกิดแต่เวทนานั้น ๆ ให้เกิดขึ้น เป็นฝ่ายบุญก็ตาม เป็นฝ่ายมิใช่บุญก็ตาม. ภิกษุทั้งหลาย ! นี้ เรียกว่า ผลของเวทนา.
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับไม่เหลือของเวทนา เป็นอย่างไรเล่า ?
ภิกษุทั้งหลาย ! ความดับไม่เหลือของเวทนา มีได้ เพราะความดับไม่เหลือของผัสสะ.
ภิกษุทั้งหลาย ! อริยมรรคมีองค์ ๘ นี้นั่นเอง เป็นทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของเวทนา, ได้แก่ ความเห็นชอบ ความดำริชอบ ; การพูดจาชอบ การทำการงานชอบ การเลี้ยงชีวิตชอบ ; ความพากเพียรชอบ ความระลึกชอบ ความตั้งใจมั่นชอบ. ....
ภิกษุทั้งหลาย ! คำใด ที่เรากล่าวว่า “พึงรู้จักเวทนา, พึงรู้จักเหตุเป็นแดนเกิดของเวทนา, พึงรู้จักความเป็นต่างกันของเวทนา, พึงรู้จักผลของเวทนา, พึงรู้จักความดับไม่เหลือของเวทนา, และพึงรู้จักทางดำเนินให้ถึงความดับไม่เหลือของเวทนา” ดังนี้นั้น, เรากล่าวหมายถึงความข้อนี้แล.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๑๗๒-๑๗๔
(ไทย) ฉกฺก. อํ. ๒๒/๓๖๕/๓๓๔.
***********
******
ตัณหาโดยวิภาค สามอย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ! ตัณหามีสามอย่างเหล่านี้, สามอย่างเหล่าไหนเล่า ? สามอย่างคือ :-
๑. กามตัณหา ตัณหาในกาม ;
๒. ภวตัณหา ตัณหาในความมีความเป็น ;
๓. วิภวตัณหา ตัณหาในความไมมี่ไม่เป็น.
ภิกษุทั้งหลาย ! เหล่านี้แล คือ ตัณหาสามอย่าง.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๒๘๙
(ไทย) มหาวาร. สํ. ๑๙/๘๕/๓๒๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น