วันศุกร์ที่ 16 กันยายน พ.ศ. 2559
ความสิ้นสุดแห่งโลก {พุทธจน} พุทธวจน
สุริยสูตร
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 84-87
สุริยสูตร
[๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่
นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มี
พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลายขุนเขาสิเนรุ โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงใน
มหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตก
หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่
ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพ
ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น
ในสังขารทั้งปวง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๒ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำลำคลองทั้งหมด ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ
ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๓ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆคือ แม่น้ำคงคา ยมุนา
อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย
ก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๔ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำ
ใหญ่ คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูมหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๕ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์
ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลง
เหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาล
ก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน
๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ครึ่งชั่วคน เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า
เพียงในรอยเท้าโค ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ
เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ
ฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์
ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมี
กลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์
ดวงที่ ๗ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติด
ทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชน
ลมหอบเอาเปลวไฟฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชนกำลังทะลาย ถูกกอง
เพลิงใหญ่เผาท่วมตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญ อยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ใครจะรู้ใครจะเชื่อว่า แผ่นดินนี้และขุนเขาสิเนรุจักถูกไฟไหม้
พินาศไม่เหลืออยู่ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว (โสดาบัน) ฯ
************
********
“สิ่งนั้น” หาพบในกายนี้
“แน่ะเธอ ! ที่สุดโลกแห่งใด
อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ;
เราไม่กล่าวว่า
ใครๆ อาจรู้ อาจเห็น
อาจถึงที่สุดแห่งโลกนั้น ได้ด้วยการไป.
“แน่ะเธอ ! ในร่างกายที่ยาวประมาณวาหนึ่ง
ที่ยังประกอบด้วยสัญญาและใจนี้เอง,
เราได้บัญญัติโลก,
เหตุให้เกิดโลก,
ความดับสนิทไม่เหลือของโลก,
และทางดำเนินให้ถึงความดับสนิทไม่เหลือของโลกไว้” ดังนี้แล.
-บาลี จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๐/๔๕.
**********
*******
จากพระสูตรนี้ ด้วยเทวบุตรชื่อ โรหิตัสส์ มาเฝ้าพระศาสดาและได้เล่าเรื่องสมัยตนเป็นฤาษี
มีฤทธิ์มีความปรารถนาว่าเราจะไปที่สุดโลก ด้วยการไป
จึงเหาะไปด้วยฤทธิ์ตลอด ๑๐๐ ปี แต่ก็ยังไม่ถึงที่สุดโลกและได้ตายไปในระหว่างนั้น
พระศาสดาจึงทรงตรัสพระสูตรนี้ว่า
ที่สุดโลกแห่งใด อันสัตว์ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุบัติ
เราไม่กล่าวการรู้ การเห็น การถึงที่สุดโลกนั้น เพราะการไป
ในร่างกายที่ยาววาหนึ่ง ซึ่งประกอบด้วยสัญญาและใจนี่เอง
เราได้บัญญัติโลก
เหตุเกิดของโลก
ความดับไม่มีเหลือของโลก
และทางให้ถึงความดับไม่มีเหลือของโลกไว้
********
*****
[๒๙๗] ร. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แต่ปางก่อน ข้าพระองค์เป็นฤาษี ชื่อโรหิตัสสะ
เป็นบุตรของอิสสรชน มีฤทธิ์ เหาะไปในอากาศได้ มีความเร็ว ประดุจอาจารย์สอนศิลปธนู
จับธนูมั่น ชาญศึกษา ชำนาญมือ เคยประกวดยิงธนู มาแล้ว ยิงผ่านเงาตาลตามขวางได้ด้วย
ลูกศรขนาดเบาโดยสะดวกดาย ย่างเท้าของ ข้าพระองค์เห็นปานนี้ ประดุจจากมหาสมุทรด้านทิศ
บูรพา ก้าวถึงมหาสมุทรด้านทิศ ประจิม ข้าพระองค์มาประสงค์อยู่แต่เพียงว่า เราจักบรรลุ
ถึงที่สุดของโลกด้วยการ เดินทาง ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ประกอบด้วยความเร็วขนาดนี้
ด้วย ย่างเท้าขนาดนี้ เว้นจากการกิน การขบเคี้ยว และการลิ้มรสอาหาร เว้นจากการ ถ่ายอุจจาระ
ปัสสาวะ เว้นจากระงับความเหน็ดเหนื่อยด้วยการหลับนอน มีอายุ ถึงร้อยปี ดำรงชีพอยู่ถึง
ร้อยปี เดินทางตลอดร้อยปี ก็ยังไม่ถึงที่สุดของโลกได้ แต่มาทำกาลกิริยาเสียในระวาง
น่าอัศจรรย์นัก พระเจ้าข้า ไม่เคยมีมา พระเจ้าข้า พระดำรัสนี้ พระผู้มีพระภาคตรัส
แจ่มแจ้งแล้ว ดังปรากฏว่า อาวุโส ที่ใดเป็นที่ ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ เราไม่พูดถึง
ที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง ฯ
[๒๙๘] พ. ดูกรอาวุโส ที่ใดเป็นที่ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย ไม่จุติ ไม่อุปบัติ
เราไม่พูดถึงที่นั้นอันเป็นที่สุดของโลก ว่าควรรู้ ควรเห็น ควรบรรลุ ด้วยการเดินทาง
ก็ถ้าหากเรายังไม่บรรลุถึงที่สุดของโลกแล้ว ก็จะไม่กล่าวถึงการ กระทำที่สุดทุกข์ ก็แต่ว่าเรา
บัญญัติเรียกว่าโลก เหตุให้เกิดโลก การดับของโลก และทางให้ถึงความดับโลก ในสรีระร่าง
มีประมาณวาหนึ่งนี้ และพร้อมทั้งสัญญาพร้อมทั้งใจครอง ฯ
*****
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย สคาถวรรค
หน้าที่ ๗๙ ข้อที่ ๒๙๖ - ๒๙๗
*******
link ;; โปรแกรม E-Tipitaka
http://etipitaka.com/read/thai/15/78/?keywords=%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%AB%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%AA%E0%B8%AA
*********
*****
#โลก
พราหมณ์!
กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ ในอริยวินัยเรียกกันว่าโลก
ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่างคือ
รูปที่จะพึงรู้แจ้งด้วยจักษุ .... เสียงที่จะพึงรู้แจ้งด้วยโสตะ....
กลิ่นที่จะพึงรู้แจ้งด้วยฆานะ .... รสที่จะพึงรู้แจ้งด้วยชิวหา....
โผฏฐัพพะที่จะพึงรู้แจ้งด้วยผิวกาย
อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะน่ารัก เป็นที่เข้าไปอาศัยอยู่แห่งความใคร่เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด.
พราหมณ์! กามคุณห้าอย่างเหล่านี้แลในอริยวินัยเรียกกันว่า โลก.
- นวก. อํ. ๒๓/๔๔๘/๒๔๒.
อริยสัจจากพระโอษฐ์ หน้า ๖๑๙- ๖๒๐
***********
*********
#โลก
ปโลกสูตร
[๑๐๑] ครั้งนั้นแลท่านพระอานนท์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ ประทับ ฯลฯ ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ที่เรียกกันว่าโลกๆ ดังนี้ ด้วยเหตุเพียง เท่าไรหนอจึงเรียกกันว่าโลก
พระผู้มีพระภาค ตรัสว่า
ดูกรอานนท์ สิ่งใดมีความแตกสลายเป็นธรรมดานี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย
ก็อะไรเล่ามีความแตกสลายเป็นธรรมดา
จักษุแลมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
รูปมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
จักษุวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
จักษุสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนา หรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้นเพราะจักษุสัมผัสเป็นปัจจัย ก็มีความแตกสลาย เป็นธรรมดา
(ในกรณีแห่ง โสตะ ฆานะ ชิวหา กายะ ก็ตรัสไว้โดยข้อความอย่างเดียวกันกับใน
กรณีแห่งจักษุ.)
ใจมีความแตกสลายเป็นธรรมดาธรรมารมณ์มีความแตกสลาย เป็นธรรมดา
มโนวิญญาณมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
มโนสัมผัสมีความแตกสลายเป็นธรรมดา
สุขเวทนา ทุกขเวทนาหรืออทุกขมสุขเวทนาที่เกิดขึ้น เพราะมโนสัมผัสเป็นปัจจัยก็มีความแตกสลายเป็นธรรมดา
ดูกรอานนท์สิ่งใดความแตกสลาย เป็นธรรมดา นี้เรียกว่าโลกในอริยวินัย ฯ
*************
**********
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น