วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2559

สุริยะจักรวาล(มีเกิดกับดับ)


*********
ชมพูทวีป
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 319
สัตตาวาสวรรคที่ ๓
ฐานสูตร
[๒๒๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีป ประเสริฐกว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์
และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือไม่มีทุกข์ ๑
ไม่มีความหวงแหน ๑ มีอายุแน่นอน ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปประเสริฐกว่า
พวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ และพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและ
พวกมนุษย์ชาวชมพูทวีป ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉน คือ อายุทิพย์ ๑
วรรณะทิพย์ ๑ สุขทิพย์ ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย เทวดาชั้นดาวดึงส์ ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์
ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกมนุษย์ชาวชมพูทวีปด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีป ประเสริฐกว่าพวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและ
เทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการ ๓ ประการเป็นไฉนคือเป็นผู้กล้า ๑ เป็นผู้มีสติ ๑
เป็นผู้อยู่ประพฤติพรหมจรรย์อันเยี่ยม ๑ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มนุษย์ชาวชมพูทวีปประเสริฐกว่า
พวกมนุษย์ชาวอุตรกุรุทวีปและพวกเทวดาชั้นดาวดึงส์ ด้วยฐานะ ๓ ประการนี้แล ฯ
จบสูตรที่ ๑
********
*****
โลกธาตุ
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๒ อังคุตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาท - หน้าที่ 215
จูฬนีสูตร
[๕๒๐] ครั้งนั้นแล ท่านพระอานนท์ได้เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้น แล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่า ดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง
พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรอานนท์ นั้นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน ฯ
ท่านพระอานนท์ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคเป็นครั้งที่ ๒ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่าดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู ยืนอยู่ในพรหมโลก ทำให้พ้นแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุ
เท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ
พ. ดูกรอานนท์ นั้นเป็นสาวก ส่วนพระตถาคตนับไม่ถ้วน
ท่านพระอานนท์ ได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคแม้เป็นครั้งที่ ๓ ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญข้าพระองค์ได้สดับรับฟังมาเฉพาะพระพักตร์พระผู้มีพระภาคว่าดูกรอานนท์ สาวกของพระสิขีสัมมาสัมพุทธเจ้าซึ่งมีนามว่า อภิภู สถิตอยู่ในพรหมโลก ทำให้พันแห่งโลกธาตุรู้แจ้งได้ด้วยเสียง พระเจ้าข้า ส่วนพระผู้มีพระภาคอรหันตสัมมาสัมพุทธเจ้าเล่า ทรงสามารถที่จะทำโลกธาตุเท่าไรให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง ฯ
พ. ดูกรอานนท์ เธอได้ฟังเรื่องพันโลกธาตุ เพียงเล็กน้อย ฯ
อา. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลเวลาแห่งเทศนาที่พระองค์จะพึงตรัส ภิกษุทั้งหลายได้สดับธรรมเทศนาของพระผู้มีพระภาคแล้ว จักทรงจำไว้ ฯ
พ. ดูกรอานนท์ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
ท่านพระอานนท์ทูลรับสนองพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรอานนท์ จักรวาลหนึ่งมีกำหนดเท่ากับโอกาสที่พระจันทร์พระอาทิตย์โคจร ทั่วทิศสว่างไสวรุ่งโรจน์
โลกมีอยู่พันจักรวาลก่อน ในโลกพันจักรวาลนั้น มีพระจันทร์พันดวง มีอาทิตย์พันดวง มีขุนเขาสิเนรุพันหนึ่ง มีชมพูทวีปพันหนึ่ง มีอปรโคยานทวีปพันหนึ่ง มีอุตตรกุรุทวีปพันหนึ่ง มีปุพพวิเทหทวีปพันหนึ่ง มีมหาสมุทรสี่พัน มีท้าวมหาราชสี่พัน มีเทวโลกชั้นจาตุมหาราชิกาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดาวดึงส์พันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นยามาพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นดุสิตพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นนิมมานรดีพันหนึ่ง มีเทวโลกชั้นปรนิมมิตวสวัสตีพันหนึ่ง มีพรหมโลกพันหนึ่ง ดูกรอานนท์ นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างเล็กมีพันจักรวาล
โลกคูณโดยส่วนพันแห่งโลกธาตุ อย่างกลางมีล้านจักรวาลนั้น
นี้เรียกว่าโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล
ดูกรอานนท์ตถาคตมุ่งหมายอยู่ พึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณ
แสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่มุ่งหมาย ฯ
อา. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ก็พระผู้มีพระภาคพึงทำโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล ให้รู้แจ้งด้วยพระสุรเสียง หรือทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมายอย่างไร ฯ
พ. ดูกรอานนท์ พระตถาคตในโลกนี้ พึงแผ่รัศมีไปทั่วโลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาล เมื่อใด หมู่สัตว์พึงจำแสงสว่างนั้นได้ เมื่อนั้นพระตถาคตพึงเปล่ง พระสุรเสียงให้สัตว์เหล่านั้นได้ยิน พระตถาคตพึงทำให้โลกธาตุอย่างใหญ่ประมาณแสนโกฏิจักรวาลให้รู้แจ้งได้ด้วยพระสุรเสียง หรือพึงทำให้รู้แจ้งได้เท่าที่พระองค์ทรงมุ่งหมาย ด้วยอาการเช่นนี้แล ฯ
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้แล้ว ท่านพระอานนท์ ได้กราบทูลว่า เป็นลาภของข้าพระองค์หนอ ข้าพระองค์ได้ดีแล้วหนอที่ข้าพระองค์มีพระศาสดาผู้มีฤทธิ์มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอานนท์กราบทูลอย่างนี้แล้ว ท่านพระอุทายีได้กล่าวกะท่านพระอานนท์ว่า ดูกรอานนท์ ในข้อนี้ท่านจะได้ประโยชน์อะไร ถ้าศาสดาของท่านมีฤทธิ์ มีอานุภาพมากอย่างนี้ เมื่อท่านพระอุทายีกล่าวอย่างนี้ พระผู้มีพระภาคได้ตรัสกะท่านพระอุทายีว่า ดูกรอุทายี เธออย่าได้กล่าวอย่างนี้ ถ้าอานนท์ยังไม่หมดราคะเช่นนี้ พึงทำกาละไป เธอพึงเป็นเจ้าแห่งเทวดาในหมู่เทวดา ๗ ครั้งพึงเป็นเจ้าจักพรรดิในชมพูทวีปนี้แหละ ๗ ครั้ง เพราะจิตที่เลื่อมใสนั้น ดูกรอุทายีก็แต่ว่าอานนท์จักปรินิพพานในอัตภาพนี้เอง ฯ
*************
*********
สุริยสูตร
พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๕ อังคุตรนิกาย สัตตก-อัฏฐก-นวกนิบาต - หน้าที่ 84-87
สุริยสูตร
[๖๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ อัมพปาลีวัน ใกล้พระนครเวสาลี ณ ที่
นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มี
พระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคตรัสว่า
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลายขุนเขาสิเนรุ โดยยาว ๘๔,๐๐๐ โยชน์ โดยกว้าง ๘๔,๐๐๐ โยชน์ หยั่งลงใน
มหาสมุทร ๘๔,๐๐๐ โยชน์ สูงจากมหาสมุทรขึ้นไป ๘๔,๐๐๐ โยชน์ มีกาลบางคราวที่ฝนไม่ตก
หลายปี หลายร้อยปี หลายพันปี หลายแสนปี เมื่อฝนไม่ตก พืชคาม ภูตคามและติณชาติที่
ใช้เข้ายา ป่าไม้ใหญ่ ย่อมเฉา เหี่ยวแห้ง เป็นอยู่ไม่ได้ ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพ
ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม นี้เป็นกำหนดควรเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น
ในสังขารทั้งปวง ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๒ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๒ ปรากฏ แม่น้ำลำคลองทั้งหมด ย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ
ฉันใด สังขารก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๓ ปรากฏ เพราะอาทิตย์ดวงที่ ๓ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆคือ แม่น้ำคงคา ยมุนา
อจิรวดี สรภู มหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใดดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลาย
ก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๔ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๔ ปรากฏ แม่น้ำสายใหญ่ๆ ที่ไหลมารวมกันเป็นแม่น้ำ
ใหญ่ คือแม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภูมหี ทั้งหมดย่อมงวดแห้ง ไม่มีน้ำ ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์ดวง
ที่ ๕ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรลึก ๑๐๐ โยชน์ก็ดี ๒๐๐ โยชน์
ก็ดี ๓๐๐ โยชน์ก็ดี ๔๐๐ โยชน์ก็ดี ๕๐๐โยชน์ก็ดี ๖๐๐ โยชน์ก็ดี ๗๐๐ โยชน์ก็ดี ย่อมงวดลง
เหลืออยู่เพียง ๗ ชั่วต้นตาลก็มี ๖ ชั่วต้นตาลก็มี ๕ ชั่วต้นตาลก็มี ๔ ชั่วต้นตาลก็มี ๓ ชั่วต้นตาล
ก็มี ๒ ชั่วต้นตาลก็มี ชั่วต้นตาลเดียวก็มี แล้วยังจะเหลืออยู่ ๗ ชั่วคน๖ ชั่วคน ๕ ชั่วคน
๔ ชั่วคน ๓ ชั่วคน ๒ ชั่วคน ชั่วคนเดียว ครึ่งชั่วคน เพียงเอว เพียงเข่า เพียงแค่ข้อเท้า
เพียงในรอยเท้าโค ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำในมหาสมุทรยังเหลืออยู่เพียงในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ
เปรียบเหมือนในฤดูแล้ง เมื่อฝนเมล็ดใหญ่ๆ ตกลงมา น้ำเหลืออยู่ในรอยเท้าโคในที่นั้นๆ
ฉะนั้น เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๕ ปรากฏ น้ำในมหาสมุทรแม้เพียงข้อนิ้วก็ไม่มี ฉันใด ดูกร
ภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ...ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์
ดวงที่ ๖ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๖ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ย่อมมี
กลุ่มควันพลุ่งขึ้น เปรียบเหมือนนายช่างหม้อเผาหม้อที่ปั้นดีแล้ว ย่อมมีกลุ่มควันพลุ่งขึ้น ฉะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ... ควรหลุดพ้น ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในกาลบางครั้งบางคราว โดยล่วงไปแห่งกาลนาน พระอาทิตย์
ดวงที่ ๗ ปรากฏ เพราะพระอาทิตย์ดวงที่ ๗ ปรากฏ แผ่นดินใหญ่นี้และขุนเขาสิเนรุ ไฟจะติด
ทั่วลุกโชติช่วง มีแสงเพลิงเป็นอันเดียวกัน เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชน
ลมหอบเอาเปลวไฟฟุ้งไปจนถึงพรหมโลก เมื่อขุนเขาสิเนรุไฟเผาลุกโชนกำลังทะลาย ถูกกอง
เพลิงใหญ่เผาท่วมตลอดแล้ว ยอดเขาแม้ขนาด ๑๐๐ โยชน์ ๒๐๐ โยชน์ ๓๐๐ โยชน์ ๔๐๐ โยชน์ ๕๐๐ โยชน์ ย่อมพังทะลาย เมื่อแผ่นดินใหญ่และขุนเขาสิเนรุถูกไฟเผาผลาญอยู่ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า เปรียบเหมือนเมื่อเนยใสหรือน้ำมันถูกไฟเผาผลาญ อยู่ ย่อมไม่ปรากฏขี้เถ้าและเขม่า ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังขารทั้งหลายก็ฉันนั้น เป็นสภาพไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน ไม่น่าชื่นชม ควรจะเบื่อหน่าย ควรคลายกำหนัด ควรหลุดพ้น ในสังขารทั้งปวง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ในข้อนั้น ใครจะรู้ใครจะเชื่อว่า แผ่นดินนี้และขุนเขาสิเนรุจักถูกไฟไหม้
พินาศไม่เหลืออยู่ นอกจากอริยสาวกผู้มีบทอันเห็นแล้ว (โสดาบัน) ฯ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น