วันอังคารที่ 13 กันยายน พ.ศ. 2559

ผู้มีศรัทธา จะขยัน พุทธวจน


 สุภูติสูตร
#ลักษณะศรัทธา  ของผู้มีศรัทธา
     ครั้งนั้นแล ท่านพระสุภูติกับสัทธภิกษุ เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ ถวายบังคมพระผู้มีพระภาคแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่งครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระสุภูติว่า ดูกรสุภูติ ภิกษุนี้ชื่อไร ท่านพระสุภูติกราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้ชื่อว่าสัทธะ เป็นบุตรอุบาสกผู้มีศรัทธา ออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดูกรสุภูติ ก็สัทธภิกษุนี้เป็นบุตรของอุบาสกผู้มีศรัทธาออกบวชเป็นบรรพชิตด้วยศรัทธา ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายแลหรือ ฯ

สุ. ข้าแต่พระผู้มีพระภาค บัดนี้เป็นกาลสมควร ทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ข้าแต่พระสุคต บัดนี้เป็นกาลสมควรทรงแสดงลักษณะของผู้มีศรัทธานั้น ขอพระผู้มีพระภาคพึงตรัสลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธาเถิด ข้าพระองค์จักทราบบัดนี้ว่า ภิกษุนี้จะเห็นพร้อมในลักษณะของผู้มีศรัทธาทั้งหลายหรือไม่ ฯ

พ. ดูกรสุภูติ ถ้าอย่างนั้น เธอจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว

ท่านพระสุภูติทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรสุภูติ ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้มีศีล สำรวมแล้วในปาติโมกขสังวร ถึงพร้อมด้วยอาจาระและโคจร มีปรกติเห็นภัยในโทษทั้งหลายมีประมาณน้อย สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีศีล ฯลฯ สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ทรงสุตะ สั่งสมสุตะ เป็นผู้ได้สดับมามาก ทรงไว้ คล่องปาก ขึ้นใจ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ ซึ่งธรรมทั้งหลายอันงามในเบื้องต้น งามในท่ามกลาง งามในที่สุด ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีสุตะมาก ฯลฯ แทงตลอดด้วยดีด้วยทิฐิ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทนเป็นผู้รับอนุศาสนีย์โดยเคารพแม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ในกรณียกิจทั้งสูงและต่ำของเพื่อนสพรหมจารีทั้งหลาย ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ขยัน ไม่เกียจคร้าน ฯลฯ อาจทำ อาจจัดได้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม กล่าวคำเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเป็นผู้ใคร่ธรรม เป็นผู้กล่าวคำอันเป็นที่รัก มีความปราโมทย์อย่างยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ปรารภความเพียร เพื่อละอกุศลธรรม เพื่อยังกุศลธรรม ให้ถึงพร้อม เป็นผู้มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุปรารภความเพียร ฯลฯ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ดูกรสุภูติข้อที่ภิกษุเป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง สามชาติบ้าง สี่ชาติบ้าง ห้าชาติบ้าง สิบชาติบ้างยี่สิบชาติบ้าง สามสิบชาติบ้าง สี่สิบชาติบ้าง ห้าสิบชาติบ้าง ร้อยชาติบ้าง พันชาติบ้าง แสนชาติบ้าง ตลอดสังวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้าง ตลอดสังวัฏวิวัฏกัปเป็นอันมากบ้างว่า ในภพโน้น เราได้มีชื่ออย่างนั้นมีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น มีอาหารอย่างนั้น เสวยสุขเสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้ไปเกิดในภพโน้น แม้ในภพนั้น เราก็ได้มีชื่ออย่างนั้น มีโคตรอย่างนั้น มีผิวพรรณอย่างนั้น เสวยสุขมีอาหารอย่างนั้น เสวยทุกข์อย่างนั้นๆ มีกำหนดอายุเพียงเท่านั้น ครั้นจุติจากภพนั้นแล้ว ได้มาเกิดในภพนี้ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้าง สองชาติบ้าง ฯลฯ เธอย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุเห็นหมู่สัตว์กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรมว่า สัตว์เหล่านี้ประกอบด้วยกายทุจริต วจีทุจริต มโนทุจริต ติเตียน พระอริยเจ้า เป็นมิจฉาทิฐิ ยึดถือการกระทำด้วยอำนาจมิจฉาทิฐิ เมื่อตายไป จึงต้องเข้าถึงอบาย ทุคติ วินิบาต นรก ส่วนสัตว์เหล่านี้ประกอบด้วย กายสุจริต วจีสุจริต มโนสุจริต ไม่ติเตียนพระอริยเจ้าเป็นสัมมาทิฐิ เมื่อตายไป จึงเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ เธอย่อมเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรมด้วยประการฉะนี้ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุเห็นหมู่สัตว์ที่กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลวประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ ย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

อีกประการหนึ่ง ภิกษุทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ดูกรสุภูติ ข้อที่ภิกษุทำให้แจ้งซึ่ง เจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้ เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไป ด้วยปัญญาอันยิ่งเอง ในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ แม้นี้ ก็เป็นลักษณะแห่งศรัทธาของผู้มีศรัทธา ฯ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสแล้วอย่างนี้ ท่านพระสุภูติ ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสนี้นั้น มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ และภิกษุนี้ย่อมเห็นพร้อมในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภิกษุนี้เป็นเป็นผู้มีศีล ... สมาทานศึกษาอยู่ในสิกขาบททั้งหลาย ภิกษุนี้เป็นผู้มีสุตะมาก ... ประกาศพรหมจรรย์พร้อมทั้งอรรถ พร้อมทั้งพยัญชนะ บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ภิกษุนี้เป็นผู้มีมิตรดี มีสหายดี มีเพื่อนดี ภิกษุนี้เป็นผู้ว่าง่าย ประกอบด้วยธรรมเครื่องกระทำให้เป็นผู้ว่าง่าย เป็นผู้อดทน เป็นผู้รับเอาอนุศาสนีย์โดยเคารพ ภิกษุนี้เป็นผู้ขยันไม่เกียจคร้านในกรณียกิจทั้งหลาย ทั้งสูงและต่ำ ของเพื่อนพรหมจรรย์ทั้งหลาย เป็นผู้ประกอบด้วยปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาอันเป็นอุบายในกรณียกิจนั้น อาจทำ อาจจัดได้ ภิกษุนี้เป็นผู้ใคร่ในธรรม กล่าวคำอันเป็นที่รัก เป็นผู้มีความปราโมทย์ยิ่งในธรรมอันยิ่ง ในวินัยอันยิ่ง ภิกษุนี้เป็นผู้ปรารภความเพียร มีกำลัง มีความบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม ภิกษุนี้เป็นผู้ได้ตามปรารถนา ได้โดยไม่ยาก ได้โดยไม่ลำบาก ซึ่งฌาน(ทั้ง) ๔ อันมีในจิตอันยิ่ง เป็นเครื่องอยู่เป็นสุขในปัจจุบัน ภิกษุนี้ย่อมระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก คือ ระลึกได้ชาติหนึ่งบ้างสองชาติบ้าง ฯลฯ เธอระลึกถึงชาติก่อนได้เป็นอันมาก พร้อมทั้งอาการ พร้อมทั้งอุทเทส ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนี้พิจารณาเห็นหมู่สัตว์ผู้กำลังจุติ กำลังอุปบัติ เลว ประณีต มีผิวพรรณดี มีผิวพรรณทราม ได้ดี ตกยาก ด้วยทิพยจักษุอันบริสุทธิ์ล่วงจักษุของมนุษย์ ฯลฯ เธอย่อมรู้ชัดซึ่งหมู่สัตว์ผู้เป็นไปตามกรรม ด้วยประการฉะนี้ ภิกษุนี้ย่อมทำให้แจ้งซึ่งเจโตวิมุติ ปัญญาวิมุติ อันหาอาสวะมิได้เพราะอาสวะทั้งหลายสิ้นไปด้วยปัญญาอันยิ่งเองในปัจจุบันเข้าถึงอยู่ ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธา ที่พระผู้มีพระภาคตรัสแล้วนี้ มีพร้อมอยู่แก่ภิกษุนี้ อนึ่ง ภิกษุนี้จักปรากฏในลักษณะศรัทธาของผู้มีศรัทธาเหล่านี้พระเจ้าข้า ฯ

พ. ดีละๆ สุภูติ ดูกรสุภูติ ถ้าเช่นนั้นเธอพึงอยู่กับสัทธภิกษุนี้เถิด ดูกรสุภูติ อนึ่ง เธอพึงหวังจะมาเยี่ยมเยือนตถาคตในกาลใด ในกาลนั้น เธอกับสัทธภิกษุนี้พึงเข้ามาเยี่ยมเยือนตถาคตเถิด ฯ

(ภาษาไทย) เอกาทสก. อํ. ๒๔/๓๑๒ – ๓๑๖/๒๒๑.
*********
********
#ทิฎฐิอริยา 7 ประการ
คุณสมบัติโสดาบัน
1 ละนิวรณ์ห้า [กามราคะ, พยาบาท, ถีนมิทธะ, อุททัจจกุกกุจจะ, วิจิกิจฉา]
ไม่เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
ไม่เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า
ไม่เกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปาก
--
2 อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ ความระงับเฉพาะตน ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตน
--
3 อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด สมณะหรือ
พราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้ ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มิได้มี
--
4 ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ คือ
อริยสาวกเมื่อต้องอาบัติ
อริยสาวกนั้นรีบแสดง
เปิดเผย
ทำให้ตื้น
ซึ่งอาบัตินั้น ในสำนักพระศาสดา
--
หรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
ครั้นแสดง
เปิดเผย
ทำให้ตื้น
แล้ว ก็ถึงความสำรวมต่อไป.
--
เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อนนอนหงาย
ถูกถ่านไฟ
ด้วยมือหรือด้วยเท้าเข้าแล้ว
ก็ชักหนีเร็วพลัน
ฉะนั้น.
--
อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัด
อย่างนี้ว่า บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดา เช่นใด
ถึงเราก็
ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
--
5 ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไร
ของเพื่อนสพรหมจารีโดยแท้ ถึงอย่างนั้น
ความเพ่งเล็งกล้าในอธิศีลสิกขา
อธิจิตตสิกขา
และอธิปัญญาสิกขา
ของ อริยสาวกนั้นก็มีอยู่
เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน
ย่อมเล็มหญ้ากินด้วย
ชำเลืองดูลูกด้วยฉะนั้น.
--
อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อม
ด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น
--
6 พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกนั้น
เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคต
ประกาศแล้ว
อันบัณฑิตแสดงอยู่
ทำให้มีประโยชน์
ทำไว้ในใจ
กำหนดด้วย
จิตทั้งปวง
เงี่ยโสตฟังธรรม.
อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้
ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วย
ทิฏฐิ ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
-
7 พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกนั้น
เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคต ประกาศแล้ว
อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม.
อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่น นั้น.
--
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วย
โสดาปัตติผล
--
ทิฏฐิที่เป็นนิยยานิกธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็ทิฏฐิอันไกลจากกิเลสเป็นข้าศึก
เป็นนิยยานิกธรรม
นำออกซึ่งบุคคลผู้ทำตามนั้น
เพื่อความสิ้นทุกข์โดยชอบ เป็นไฉน?
--
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ไปสู่ป่าก็ดี ไปสู่โคนต้นก็ดี ไปสู่เรือนว่างเปล่าก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
ปริยุฏฐานกิเลสในภายในนั้นที่เรายังละไม่ได้ มีอยู่หรือหนอ?
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ถ้าภิกษุมีจิตอันกามราคะกลุ้มรุม
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
มีจิตอันพยาบาทกลุ้มรุม
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
มีจิตอันถีนมิทธะกลุ้มรุม
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
มีจิตอันอุททัจจกุกกุจจะกลุ้มรุม
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
มีจิตอันวิจิกิจฉากลุ้มรุม
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกนี้
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
เป็นผู้ขวนขวายในการคิดเรื่องโลกหน้า
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
และเกิดขัดใจ ทะเลาะ วิวาท ทิ่มแทงกันและกันด้วยหอกคือปากอยู่
ก็ชื่อว่ามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสกลุ้มรุมแล้วเทียว
ภิกษุนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เรามีจิตอันปริยุฏฐานกิเลสใดกลุ้มรุมแล้ว
ไม่พึงรู้เห็นตามความเป็นจริง
ปริยุฏฐานกิเลสในภายในนั้นที่เรายังละไม่ได้แล้ว
มิได้มีเลย จิตเราตั้งไว้ดีแล้ว
เพื่อตรัสรู้สัจจะทั้งหลาย.
นี้ญาณที่ ๑ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันภิกษุนั้นบรรลุแล้ว.
--
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตนหรือหนอ?
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราเสพ เจริญ ทำให้มากซึ่งทิฏฐินี้
ย่อมได้ความระงับเฉพาะตน
ย่อมได้ความดับกิเลสเฉพาะตน.
นี้ญาณที่ ๒ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มีอยู่หรือหนอ?
อริยสาวกนั้นย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
เราประกอบด้วยทิฏฐิเช่นใด
สมณะหรือพราหมณ์อื่นนอกธรรมวินัยนี้
ประกอบด้วยทิฏฐิเช่นนั้น มิได้มี.
นี้ญาณที่ ๓ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ ความออกจากอาบัติเช่นใด
ย่อมปรากฏ
อริยสาวกย่อมต้องอาบัติเช่นนั้นบ้างโดยแท้
ถึงอย่างนั้น อริยสาวกนั้นรีบแสดง
เปิดเผย
ทำให้ตื้น
ซึ่งอาบัตินั้น
ในสำนักพระศาสดาหรือเพื่อนสพรหมจารีที่เป็นวิญญูชนทั้งหลาย
ครั้นแสดงเปิดเผย
ทำให้ตื้นแล้ว
ก็ถึงความสำรวมต่อไป.
-
เปรียบเหมือนกุมารที่อ่อนนอนหงาย
ถูกถ่านไฟ ด้วยมือหรือด้วยเท้าเข้าแล้ว
ก็ชักหนีเร็วพลัน ฉะนั้น.
-
อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ ประกอบด้วยธรรมดา เช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
นี้ญาณที่ ๔ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดาอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมดานี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกถึงความขวนขวายในกิจใหญ่น้อยที่ควรทำอย่างไร
ของเพื่อนสพรหมจารีโดยแท้
ถึงอย่างนั้น
ความเพ่งเล็งกล้า
ในอธิศีลสิกขา อธิจิตตสิกขา และอธิปัญญาสิกขา
ของอริยสาวกนั้นก็มีอยู่
เปรียบเหมือนแม่โคลูกอ่อน
ย่อมเล็มหญ้ากินด้วย
ชำเลืองดูลูกด้วยฉะนั้น.
อริยสาวกนั้น
ย่อมรู้ชัดอยู่อย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยธรรมดาเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยธรรมดาเช่นนั้น.
นี้ญาณที่ ๕ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อีกข้อหนึ่ง อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็นดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกนั้น
เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
อันบัณฑิตแสดงอยู่
ทำให้มีประโยชน์
ทำไว้ในใจ
กำหนดด้วยจิตทั้งปวง
เงี่ยโสตฟังธรรม.
อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ ว่าบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
นี้ญาณที่ ๖ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่ง
อริยสาวกย่อมพิจารณาเห็น ดังนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ก็บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละอย่างไร
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
พละนี้ของบุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
คือ อริยสาวกนั้น
เมื่อธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว
อันบัณฑิตแสดงอยู่
ย่อมได้ความรู้อรรถ
ย่อมได้ความรู้ธรรม
ย่อมได้ปราโมทย์อันประกอบด้วยธรรม.
อริยสาวกนั้นรู้ชัดอย่างนี้ว่า
บุคคลผู้ถึงพร้อมด้วยทิฏฐิ
ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นใด
ถึงเราก็ประกอบด้วยพละเช่นนั้น.
นี้ญาณที่ ๗ เป็นอริยะ
เป็นโลกุตระ ไม่ทั่วไปกับพวกปุถุชน
อันอริยสาวกนั้นบรรลุแล้ว.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
ธรรมดาอันอริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการอย่างนี้
ตรวจดูดีแล้ว
ด้วยการทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล.
-
ดูกรภิกษุทั้งหลาย
อริยสาวกผู้ประกอบด้วยองค์ ๗ ประการนี้แล
ย่อมเป็นผู้เพรียบพร้อมด้วยโสดาปัตติผล
ฉะนี้แล.
-
พระผู้มีพระภาค
ได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้แล้ว
ภิกษุเหล่านั้น
ชื่นชมยินดี
พระภาษิตของพระผู้มีพระภาค
ฉะนี้แล.
**********
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๒
สุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์
หน้าที่ ๔๑๓ ข้อที่ ๕๔๓
link ;; โปรแกรม E-Tipitaka
http://etipitaka.com/read/thai/12/413/?keywords=%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%A2%E0%B8%A2%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%81%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3%E0%B8%A1

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น