วันอังคารที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พุทธวจน ความเพียรทางโลก.เพียรเพื่อคนอื่น.ทั้งกุศลและอกุศล ความเพียรทางธรรม.เพียร...

ความเพียรทางโลก.เพียรเพื่อคนอื่น.ทั้งกุศลและอกุศล

ความเพียรทางธรรม.เพียรเพื่อตนเอง.ได้มรรคผลนิพพาน

***

   [๒๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ในโลกมีความเพียรซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่าง

๒ อย่างเป็นไฉน คือ

-

ความเพียรเพื่อทำให้เกิดจีวรบิณฑบาต เสนาสนะ และคิลานปัจจัยเภสัชบริขาร ของคฤหัสถ์ผู้อยู่ครองเรือน ๑

-

ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวง ของผู้ที่ออกบวชเป็นบรรพชิต ๑

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ในโลกมีความเพียร ซึ่งเกิดได้ยาก ๒ อย่างนี้แล

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาความเพียร ๒ อย่างนี้

ความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวงเป็นเลิศ

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เพราะฉะนั้นแหละเธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้ว่า

เราจักเริ่มตั้งความเพียรเพื่อสละคืนอุปธิทั้งปวง

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายพึงศึกษาอย่างนี้แล ฯ

---

พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๐

สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาต

หน้าที่ ๔๗ ข้อที่ ๒๔๘

---

link ;; โปรแกรม E-Tipitaka

http://etipitaka.com/read/thai/20/47/?keywords=%E0%B8%84%E0%B8%A7%E0%B8%B2%E0%B8%A1%E0%B9%80%E0%B8%9E%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B8%A3%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%A8

---

ศิลปะแห่งการปลุกเร้าความเพียร

ภิกษุ ท. ! อารัพภวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร) ๘ อย่าง เหล่านี้มี

อยู่. แปดอย่าง อย่างไรเล่า ? แปดอย่างคือ :-

๑. ภิกษุ ท. ! ในกรณีนี้ การงานอันภิกษุจะต้องทำมีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

“การงานเป็นสิ่งที่เราต้องกระทำ แต่เมื่อกระทำการงานอยู่

มันไม่เป็นการง่าย ที่จะกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

เอาเถิดถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง”

ดังนี้. เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ เพื่อกระทำ

ให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๑.



๒. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : การงานอันภิกษุกระทำเสร็จแล้วมีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดว่า

“เราได้กระทำการงานแล้ว ก็เมื่อเราทำการงานอยู่นั้น

เราไม่สามารถกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่

กระทำให้แจ้ง. ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๒.



๓. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : หนทางอันภิกษุต้องเดิน มีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดว่า

“หนทางเป็นสิ่งที่เราจักต้องเดิน แต่เมื่อเราเดินทางอยู่

มันไม่เป็นการง่าย ที่จะกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๓ .



๔. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : หนทางอันภิกษุเดินแล้ว มีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดว่า

“เราได้เดินทางแล้ว ก็เมื่อเราเดินทางอยู่

เราไม่สามารถกระทำในใจ ซึ่งคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้ง

สิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๔.



๕. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม

ไม่ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ.

ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

“เมื่อเราเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม ไม่ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ

แต่กายของเรากลับเป็นกายที่เบา ควรแก่การงาน.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักอาศัยกายที่เบาควรแก่การประกอบการงานนั้นๆ รีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๕.



๖. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม

ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ.

ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

“เมื่อเราเที่ยวบิณฑบาตในบ้านหรือนิคม ได้โภชนะเลวหรือประณีตเต็มตามที่ต้องการ

แต่กายของเราก็ยังเป็นกายที่เบา ควรแก่การงานอยู่.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักอาศัยกายที่เบาควรแก่การประกอบการงานนั้นๆ รีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. !นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๖.



๗. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : อาพาธเล็กน้อยที่เกิดขึ้นแล้วแก่ภิกษุ

มีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

“อาพาธเล็กน้อยนี้เกิดขึ้นแล้วแก่เราแต่มัน

อาจเป็นไปได้ว่า อาพาธนั้นจักลุกลาม.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง”

ดังนี้. เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๗.



๘. ภิกษุ ท. ! ข้ออื่นยังมีอีก : ภิกษุเป็นผู้หายจากความเจ็บไข้แล้วไม่นาน มีอยู่.

ภิกษุนั้นมีความคิดอย่างนี้ว่า

“เราหายจากความเจ็บไข้แล้วไม่นาน

แต่มันอาจเป็นไปได้ว่า อาพาธนั้นจักหวนกลับมาอีก.

เอาเถิด ถ้ากระไรเราจักรีบปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง” ดังนี้.

เธอนั้นจึงปรารภความเพียร

เพื่อบรรลุสิ่งที่ยังไม่บรรลุ

เพื่อถึงทับสิ่งที่ยังไม่ถึงทับ

เพื่อกระทำให้แจ้งสิ่งที่ยังไม่กระทำให้แจ้ง.

ภิกษุ ท. ! นี้เป็น อารัพภวัตถุข้อที่ ๘.

ภิกษุ ท. ! เหล่านี้แล อารัพภวัตถุ (ที่ตั้งแห่งการปรารภความเพียร) แปด

อย่าง.

- อฏฐก. อํ.๒๓/๓๔๕/๑๘๖.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น