วันอาทิตย์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พุทธวจน ปฏิจจสมุปปันนธรรม แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘

ปฏิจจสมุปปันนธรรม แห่งอริยมรรคมีองค์ ๘ ::

*******

#พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘

#จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐

๗. มหาจัตตารีสกสูตร (๑๑๗)(หลังฉัน watnapp)

[๒๕๒] ข้าพเจ้าได้สดับมาอย่างนี้-

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่พระวิหารเชตวัน

อารามของอนาถบิณฑิกเศรษฐี เขตพระนครสาวัตถี

สมัยนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียก

ภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระดำรัสแล้ว ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ

อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ

แก่เธอทั้งหลาย

พวกเธอจงฟังสัมมาสมาธินั้น

จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าวต่อไป

ภิกษุเหล่านั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า

ชอบแล้ว พระพุทธเจ้าข้า ฯ

-

[๒๕๓] พระผู้มีพระภาคจึงได้ตรัสดังนี้ว่า

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

#ก็สัมมาสมาธิของพระอริยะ

อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ

สัมมาทิฐิ

สัมมาสังกัปปะ

สัมมาวาจา

สัมมากัมมันตะ

สัมมาอาชีวะ

สัมมาวายามะ

สัมมาสติ เป็นไฉน

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง

ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล

เรียกว่า

#สัมมาสมาธิของพระอริยะ

อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง ฯ

-

[๒๕๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

#สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาทิฐิว่ามิจฉาทิฐิ

รู้จักสัมมาทิฐิว่าสัมมาทิฐิ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

-

[๒๕๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาทิฐิเป็นไฉน

คือ ความเห็นดังนี้ว่า

ทานที่ให้แล้ว ไม่มีผล

ยัญที่บูชาแล้ว ไม่มีผล

สังเวยที่บวงสรวงแล้ว ไม่มีผล

ผลวิบากของกรรมที่ทำดีทำชั่วแล้วไม่มี

โลกนี้ไม่มี โลกหน้าไม่มี

มารดาไม่มี

บิดาไม่มี

สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะไม่มี

สมณพราหมณ์ทั้งหลายผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ

ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง

เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลกไม่มี

นี้มิจฉาทิฐิ ฯ

-

[๒๕๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวสัมมาทิฐิเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาทิฐิของพระอริยะ ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ

เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

-

[๒๕๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

ความเห็นดังนี้ว่า

ทานที่ให้แล้ว มีผล

ยัญที่บูชาแล้ว มีผล

สังเวยที่บวงสรวงแล้ว มีผล

ผลวิบากของกรรมที่ทำดี ทำชั่วแล้วมีอยู่

โลกนี้มี โลกหน้ามี

มารดามี บิดามี

สัตว์ที่เป็นอุปปาติกะมี

สมณพราหมณ์ทั้งหลาย ผู้ดำเนินชอบ ปฏิบัติชอบ

ซึ่งประกาศโลกนี้โลกหน้าให้แจ่มแจ้ง

เพราะรู้ยิ่งด้วยตนเอง ในโลก มีอยู่

นี้สัมมาทิฐิที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ

ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๕๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ปัญญา ปัญญินทรีย์

ปัญญาพละ

ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์

ความเห็นชอบ

องค์แห่งมรรค ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค

เจริญอริยมรรคอยู่นี้แล

สัมมาทิฐิของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาทิฐิ

เพื่อบรรลุสัมมาทิฐิ ความพยายามของเธอนั้น

เป็นสัมมาวายามะ ฯ

-

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาทิฐิได้

มีสติบรรลุสัมมาทิฐิอยู่ สติของเธอนั้น

เป็นสัมมาสติ ฯ

-

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ

ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาทิฐิของภิกษุนั้น ฯ

-

[๒๕๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาสังกัปปะว่ามิจฉาสังกัปปะ

รู้จักสัมมาสังกัปปะว่าสัมมาสังกัปปะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

-

[๒๖๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาสังกัปปะเป็นไฉน คือ

ความดำริในกาม ดำริในพยาบาท ดำริในความเบียดเบียน

นี้มิจฉาสังกัปปะ ฯ

-

[๒๖๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวสัมมาสังกัปปะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ

ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

-

[๒๖๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

ความดำริในเนกขัมมะ ดำริในความไม่พยาบาท

ดำริในความไม่เบียดเบียน

นี้สัมมาสังกัปปะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๖๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ก็สัมมาสังกัปปะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความตรึก ความวิตก

ความดำริ ความแน่ว ความแน่ ความปักใจ วจีสังขาร

ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรคเจริญอริยมรรคอยู่นี้แล

สัมมาสังกัปปะ ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาสังกัปปะ

เพื่อบรรลุสัมมาสังกัปปะ

ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

-

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาสังกัปปะได้

มีสติบรรลุสัมมาสังกัปปะอยู่

สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ

ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาสังกัปปะ ของภิกษุนั้น ฯ

-

[๒๖๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาวาจาว่ามิจฉาวาจา

รู้จักสัมมาวาจาว่าสัมมาวาจา

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

-

[๒๖๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาวาจาเป็นไฉน

คือพูดเท็จ พูดส่อเสียด

พูดคำหยาบ เจรจาเพ้อเจ้อ นี้ มิจฉาวาจา ฯ

-

[๒๖๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวสัมมาวาจาเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ

เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

-

[๒๖๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ งดเว้นจากการพูดส่อเสียด

งดเว้นจากการพูดคำหยาบ งดเว้นจากการเจรจาเพ้อเจ้อ

นี้ สัมมาวาจาที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๖๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาวาจาของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น

ความเว้นขาด เจตนางดเว้น จากวจีทุจริตทั้ง ๔

ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้ พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค

เจริญอริยมรรคอยู่ นี้แล สัมมาวาจา

ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาวาจา

เพื่อบรรลุสัมมาวาจาอยู่

ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

-

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาวาจาได้

มีสติบรรลุสัมมาวาจาอยู่ สติของเธอนั้น

เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ

ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมาวาจาของภิกษุนั้น ฯ

-

[๒๖๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉากัมมันตะว่า มิจฉากัมมันตะ

รู้จักสัมมากัมมันตะว่า สัมมากัมมันตะ ความรู้ของเธอนั้น

เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

-

[๒๗๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉากัมมันตะเป็นไฉน คือ

ปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร

นี้ มิจฉากัมมันตะ ฯ

-

[๒๗๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวสัมมากัมมันตะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมากัมมันตะของพระอริยะ

ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค อย่าง ๑ ฯ

-

[๒๗๒] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์เป็นไฉน คือ

เจตนางดเว้นจากปาณาติบาต งดเว้น

จากอทินนาทาน งดเว้นจากกาเมสุมิจฉาจาร

นี้สัมมากัมมันตะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๗๓] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมากัมมันตะ

ของพระอริยะที่เป็น อนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

ความงด ความเว้น เจตนางดเว้น จากกายทุจริตทั้ง ๓

ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมากัมมันตะ

ของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉากัมมันตะ

เพื่อบรรลุสัมมากัมมันตะ

ความพยายามของเธอนั้น เป็นสัมมาวายามะ ฯ

-

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉากัมมันตะได้

มีสติบรรลุสัมมากัมมันตะอยู่ สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

-

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะสัมมาสติ

ย่อมห้อมล้อม เป็นไปตามสัมมากัมมันตะของภิกษุนั้น ฯ

-

[๒๗๔] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ภิกษุรู้จักมิจฉาอาชีวะว่ามิจฉาอาชีวะ

รู้จักสัมมาอาชีวะว่าสัมมาอาชีวะ

ความรู้ของเธอนั้น เป็นสัมมาทิฐิ ฯ

-

[๒๗๕] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มิจฉาอาชีวะเป็นไฉน คือ

การโกง การล่อลวง การตลบตะแลง

การยอมมอบตนในทางผิด การเอาลาภต่อลาภ

นี้มิจฉาอาชีวะ ฯ

-

[๒๗๖] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะเป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย

เรากล่าวสัมมาอาชีวะเป็น ๒ อย่าง คือ

สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ เป็นส่วนแห่งบุญ

ให้ผลแก่ขันธ์ อย่าง ๑

สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรคอย่าง ๑ ฯ

-

[๒๗๗] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ เป็นไฉน คือ

อริยสาวกในธรรมวินัยนี้ ย่อมละมิจฉาอาชีวะ

เลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ

ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้ สัมมาอาชีวะที่ยังเป็นสาสวะ

เป็นส่วนแห่งบุญ ให้ผลแก่ขันธ์ ฯ

-

[๒๗๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สัมมาอาชีวะของพระอริยะที่เป็นอนาสวะ

เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค เป็นไฉน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความงด ความเว้น

เจตนางดเว้น จากมิจฉาอาชีวะ ของภิกษุผู้มีจิตไกลข้าศึก

มีจิตหาอาสวะมิได้

พรั่งพร้อมด้วยอริยมรรค เจริญอริยมรรคอยู่

นี้แล สัมมาอาชีวะของพระอริยะ

ที่เป็นอนาสวะ เป็นโลกุตระ เป็นองค์มรรค ฯ

-

ภิกษุนั้นย่อมพยายามเพื่อละมิจฉาอาชีวะ

เพื่อบรรลุสัมมาอาชีวะ ความพยายามของเธอนั้น

เป็นสัมมาวายามะ ฯ

ภิกษุนั้นมีสติละมิจฉาอาชีวะได้ มีสติบรรลุสัมมาอาชีวะอยู่

สติของเธอนั้น เป็นสัมมาสติ ฯ

ด้วยอาการนี้ ธรรม ๓ ประการนี้ คือ

สัมมาทิฐิ สัมมาวายามะ สัมมาสติ ย่อมห้อมล้อม

เป็นไปตามสัมมาอาชีวะของภิกษุนั้น ฯ

-

[๒๗๙] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

เมื่อมีสัมมาทิฐิ สัมมาสังกัปปะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจาจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาอาชีวะสัมมาวายามะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาวายามะ สัมมาสติจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสติ สัมมาสมาธิจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาสมาธิ สัมมาญาณะจึงพอเหมาะได้

เมื่อมีสัมมาญาณะ สัมมาวิมุตติจึงพอเหมาะได้

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล

พระเสขะผู้ประกอบด้วยองค์ ๘

จึงเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยองค์ ๑๐

-

[๒๘๐] ดูกรภิกษุทั้งหลาย บรรดาองค์ทั้ง ๗ นั้น

สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธาน

ก็สัมมาทิฐิย่อมเป็นประธานอย่างไร คือ

ผู้มีสัมมาทิฐิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาทิฐิได้

ทั้งอกุศลธรรมลามกเป็นอเนกบรรดามี

เพราะมิจฉาทิฐิเป็นปัจจัยนั้น

ก็เป็นอันผู้มีสัมมาทิฐิสลัดได้แล้ว

และกุศลธรรมเป็นอเนก

ย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

เพราะสัมมาทิฐิเป็นปัจจัย ฯ

-

ผู้มีสัมมาสังกัปปะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสังกัปปะได้…

ผู้มีสัมมาวาจา ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวาจาได้…

ผู้มีสัมมากัมมันตะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉากัมมันตะได้…

ผู้มีสัมมาอาชีวะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาอาชีวะได้…

ผู้มีสัมมาวายามะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวายามะได้…

ผู้มีสัมมาสติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสติได้…

ผู้มีสัมมาสมาธิ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาสมาธิได้…

ผู้มีสัมมาญาณะ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาญาณะได้…

ผู้มีสัมมาวิมุตติ ย่อมเป็นอันสลัดมิจฉาวิมุตติได้

ทั้งอกุศลธรรมลามก เป็นอเนกบรรดามี

เพราะมิจฉาวิมุตติเป็นปัจจัยนั้น ก็เป็นอันผู้มีสัมมาวิมุตติสลัดได้แล้ว

และกุศลธรรมเป็นอเนกย่อมถึงความเจริญบริบูรณ์

เพราะสัมมาวิมุตติเป็นปัจจัย

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ด้วยประการนี้แล

จึงเป็นธรรมฝ่ายกุศล ๒๐ ฝ่ายอกุศล ๒๐

ชื่อ ธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ

อันเราให้เป็นไปแล้ว

สมณะ หรือ พราหมณ์ หรือเทวดา หรือมาร หรือพรหม

หรือใครๆ ในโลก จะให้เป็นไปไม่ได้ ฯ

-

[๒๘๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์

ผู้ใดผู้หนึ่งพึงสำคัญที่จะติเตียน

คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้

การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ

อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์ผู้นั้น

ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว

-

ถ้าใครติเตียนสัมมาทิฐิ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีทิฐิผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสังกัปปะ

เขาก็ต้องบูชาสรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสังกัปปะผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวาจา

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวาจาผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมากัมมันตะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีการงานผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาอาชีวะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีอาชีวะผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวายามะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีความพยายามผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสติ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสติผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาสมาธิ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีสมาธิผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาญาณะ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีญาณผิด

ถ้าใครติเตียนสัมมาวิมุตติ

เขาก็ต้องบูชา สรรเสริญท่านสมณพราหมณ์ผู้มีวิมุตติผิด ฯ

-

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมณะหรือพราหมณ์พวกใดพวกหนึ่ง

พึงสำคัญที่จะติเตียน คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะนี้

การกล่าวก่อนและการกล่าวตามกัน ๑๐ ประการ

อันชอบด้วยเหตุของสมณะหรือพราหมณ์พวกนั้น

ย่อมถึงฐานะน่าตำหนิในปัจจุบันเทียว

ดูกรภิกษุทั้งหลาย แม้พวกอัสสะและพวกภัญญะ ชาวอุกกลชนบท

ซึ่งเป็นอเหตุกวาทะ อกิริยวาทะ นัตถิกวาทะ

ก็ยังสำคัญที่จะไม่ติเตียน

ไม่คัดค้านธรรมบรรยายมหาจัตตารีสกะ

นั่นเพราะเหตุไร เพราะกลัวถูกนินทา ถูกว่าร้าย และถูกก่อความ ฯ

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระภาษิตนี้แล้ว

ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี

พระภาษิตของพระผู้มีพระภาคแล ฯ

-

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๑๔

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๖ มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์

หน้าที่ ๑๔๕/๔๑๓ ข้อที่ ๒๕๒-๒๕๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น