วันจันทร์ที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2559

พุทธวจน กามฉันทะ ในนิวรณ์ ๕ กับ ในสังโยชน์ ต่างกันอย่างไร

กามฉันทะ ในนิวรณ์ ๕ กับ ในสังโยชน์ ต่างกันอย่างไร ::

 #นิวรณ์๕

ภิกษุ ท. ! นิวรณ์เป็นเครื่องกางกั้น ๕ อย่างเหล่านี้ ท่วมทับจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลังมีอยู่.

ห้าอย่าง อย่างไรเล่า ? ห้าอย่าง คือ  :

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ กามฉันทะ ครอบงำจิตแล้ว ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ พยาบาท  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ ถีนมิทธะ  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ อุทธัจจกุกกุจจะ  ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง;

นิวรณ์เครื่องกางกั้น คือ วิจิกิจฉา   ครอบงำจิตแล้ว  ทำปัญญาให้ถอยกำลัง.

       ภิกษุ ท. ! ภิกษุที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จักรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้  นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

ภิกษุ ท. ! เปรียบเหมือนแม่น้ำที่ไหลลงจากภูเขา ไหลไปสู่ที่ไกล มีกระแสเชี่ยว พัดพาสิ่งต่าง ๆ ไปได้ มีบุรุษมาเปิดช่องทั้งหลายที่เขาขุดขึ้น ด้วยเครื่องไถทั้งสองฝั่งแม่น้ำนั้น  เมื่อเป็นเช่นนี้กระแสกลางแม่น้ำนั้นก็ซัดส่ายไหลผิดทาง ไม่ไหลไปสู่ที่ไกลไม่มีกระแสเชี่ยว ไม่พัดสิ่งต่างๆไปได้,  นี้ฉันใด;

ภิกษุ ท. ! ข้อนี้ก็ฉันนั้นเหมือนกัน :

ภิกษุ  ที่ไม่ละนิวรณ์อันเป็นเครื่องกางกั้นจิต ๕ อย่างเหล่านี้แล้ว จะรู้ซึ่งประโยชน์ตน หรือประโยชน์ผู้อื่น หรือประโยชน์ทั้งสองฝ่าย หรือจักกระทำให้แจ้งซึ่งญาณทัสสนะอันวิเศษอันควรแก่ความเป็นอริยะ ยิ่งกว่าธรรมดาแห่งมนุษย์ด้วยปัญญาอันทุพพลภาพ ไร้กำลัง ดังนี้ นั่นไม่เป็นฐานะที่จะมีได้.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ๒ หน้า ๑๓๕๗-๑๓๕๘

(บาลี) ปญฺจก. อํ. ๒๒/๗๒/๕๑.

----

 #สังโยชน์สิบ

ภิกษุทั้งหลาย ! สังโยชน์ ๑๐ ประการ เหล่านี้ มีอยู่สิบประการอย่างไรเล่า ? สิบประการ คือ :-

โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ

อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.



โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?คือ

สักกายทิฏฐิ, วิจิกิจฉา, สีลัพพตปรามาส, กามฉันทะ, พยาบาท

เหล่านี้ คือ โอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.



อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ เป็นอย่างไรเล่า ?

คือ รูปราคะ, อรูปราคะ, มานะ, อุทธัจจ, อวิชชา

เหล่านี้คือ อุทธัมภาคิยสังโยชน์ ๕ ประการ.



ภิกษุ ทั้งหลาย เหล่านี้แล สังโยชน์ ๑๐ ประการ.



คู่มือโสดาบัน หน้า ๑๒๗

(บาลี) ทสก. อํ.  ๒๔/๑๘/๑๓.

----

*

*****

รายละเอียดที่ควรศึกษาเกี่ยวกับกาม

ภิกษุทั้งหลาย ! ที่เรากล่าวว่า “กาม นิทานสัมภวะแห่งกาม เวมัตตตาแห่งกาม วิบากแห่งกาม นิโรธแห่งกาม ปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกาม เป็นสิ่งที่ควรรู้แจ้ง” นั้น เรากล่าวหมายถึงกามไหนกันเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! กามคุณ ๕ อย่างเหล่านี้ คือ รูป ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยจักษุ.... เสียง ทั้งหลาย อันจะถึงรู้แจ้งได้ด้วยโสตะ.... กลิ่น ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยฆานะ.... รส ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยชิวหา.... โผฏฐัพพะ ทั้งหลาย อันจะพึงรู้แจ้งได้ด้วยกาย อันเป็นสิ่งที่น่าปรารถนา น่ารักใคร่ น่าพอใจ มีลักษณะอันน่ารัก เป็นที่เข้าไปตั้งอาศัยแห่งความใคร่ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด มีอยู่,

ภิกษุทั้งหลาย ! อารมณ์ ๕ อย่างเหล่านี้ หาใช่กามไม่ ; ห้าอย่างเหล่านี้ เรียกกันในอริยวินัยว่า กามคุณ.



(คาถาจำกัดความตอนนี้)

ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก (สงฺกปฺปราค) นั่นแหละคือกามของคนเรา ; อารมณ์อันวิจิตรทั้งหลายในโลกนั้น หาใช่กามไม่ ;

ความกำหนัดไปตามอำนาจความตริตรึก นั่นแหละคือกามของคนเรา ;

อารมณ์อันวิจิตร ก็มีอยู่ในโลก ตามประสาของมันเท่านั้น ; ดังนั้น

ผู้มีปัญญาจึงนำออกเสียซึ่ง ฉันทะ ในอารมณ์อันวิจิตรเหล่านั้น ดังนี้.



ภิกษุทั้งหลาย ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิด) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?

นิทานสัมภวะแห่งกาม คือ ผัสสะ.

ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตา (ประมาณต่าง ๆ) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! เวมัตตตาแห่งกาม คือ ความใคร่ (กาม) ในรูปารมณ์ก็อย่างหนึ่ง ๆ, ความใคร่ในสัททารมณ์ ก็อย่างหนึ่งๆ, ความใคร่ในคันธารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ, ความใคร่ในรสารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ, ความใคร่ในโผฏฐัพพารมณ์ ก็อย่างหนึ่ง ๆ ; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า เวมัตตาแห่งกาม.



ภิกษุทั้งหลาย ! วิบากแห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! บุคคลใคร่อยู่ซึ่งอารมณ์ (แห่งกาม) ใด เขากระทำอัตตภาพอันเกิดจากกามนั้นๆ ให้เกิดขึ้น เป็นอัตตภาพมีส่วนแห่งบุญ ก็ดี มีส่วนแห่งอบุญ ก็ดี ; ภิกษุทั้งหลาย ! นี้เราเรียกว่า วิบากแห่งกาม.

ภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธ (ความดับ) แห่งกาม เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุทั้งหลาย ! นิโรธแห่งกามย่อมมี เพราะนิโรธแห่งผัสสะ. อริยอัฏฐังคิกมรรคนี้นั่นแล เป็นปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกาม ; ปฏิปทานั้นได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ สัมมาสมาธิ.



ภิกษุทั้งหลาย ! ในกาลใดแล อริยสาวกย่อมรู้ชัดซึ่งกาม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งนิทานสัมภวะแห่งกาม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งเวมัตตตาแห่งกาม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งวิบากแห่งกาม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งนิโรธแห่งกาม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่งปฏิปทาให้ถึงซึ่งนิโรธแห่งกาม อย่างนี้ ; ในกาลนั้น อริยสาวกนั้น ย่อมรู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้อันเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส ว่าเป็นนิโรธแห่งกาม.

อริยสัจจากพระโอษฐ์ ภาคต้น หน้า ๓๐๗

(บาลี) ฉกฺก. อ. ๒๒/๔๕๘-๔๖๐/๓๓๔. :

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น