วันเสาร์ที่ 5 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พุทธวจน พระสูตร จำแนกแจกแจง.เรื่อง.กรรม.อย่างละเอียด


พระสูตร จำแนกแจกแจง.เรื่อง.กรรม.อย่างละเอียด.::

***********

กรรม คืออะไร

พระศาสดาทรงตรัสว่า กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ

นิยามของคำว่ากรรม ที่พระศาสดาทรงบัญญัติ คือ เรากล่าวซึ่งเจตนาว่าเป็นกรรม

******

รายละเอียดที่บุคคลควรทราบ เกี่ยวกับเรื่องกรรม

ภิกษุ ท. ! กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ ...... คำที่เรากล่าวแล้วดังนี้นั้น เราอาศัยอะไรกล่าวเล่า ?

ภิกษุ ท. ! เรากล่าวซึ่งเจตนา ว่าเป็น กรรมเพราะว่าบุคคลเจตนาแล้ว ย่อมกระทำซึ่งกรรม ด้วยกาย ด้วยวาจา ด้วยใจ.

ภิกษุ ท. ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! นิทานสัมภวะ (เหตุเป็นแดนเกิดพร้อม) แห่งกรรมทั้งหลาย คือ ผัสสะ.

ภิกษุ ท. ! เวมัตตตา (ความมีประมาณต่างๆ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาในนรกมีอยู่, กรรมที่ทำให้สัตว์เสวยเวทนาในกำเนิดเดรัจฉานมีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์ให้เสวยเวทนาในเปรตวิสัย มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาในมนุษย์โลก มีอยู่, กรรมที่ทำสัตว์เสวยเวทนาในเทวโลก มีอยู่. ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่า เวมัตตตาแห่งกรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! วิบาก (ผลแห่งการกระทำ) แห่งกรรมทั้งหลาย เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! เรากล่าววิบากแห่งกรรมทั้งหลายว่ามีอยู่ ๓ อย่าง คือ วิบากในทิฏฐธรรม (คือทันควัน) หรือว่า วิบากในอุปปัชชะ (คือในเวลาต่อมา) หรือว่า วิบากใน อปรปริยายะ (คือในเวลาต่อมาอีก). ภิกษุ ท. ! นี้เรากล่าวว่าวิบากแห่งกรรมทั้งหลาย.

ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธ (ความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! ความดับแห่งกรรมทั้งหลาย ย่อมมีเพราะความดับแห่งผัสสะ.

ภิกษุ ท. ! กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา (ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับไม่เหลือแห่งกรรม) เป็นอย่างไรเล่า ?

ภิกษุ ท. ! อริยอัฏฐังคิกมรรค (อริยมรรคมีองค์แปด) นี้นั่นเองคือ กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา ; ได้แก่ สิ่งเหล่านี้คือ คือ สัมมาทิฏฐิ (ความเห็นชอบ) สัมมาสังกัปปะ (ความดำริชอบ) สัมมาวาจา (การพูดจาชอบ) สัมมากัมมันตะ (การทำการงานชอบ) สัมมาอาชีวะ (การเลี้ยงชีวิตชอบ) สัมมาวายามะ (ความพากเพียรชอบ) สัมมาสติ (ความระลึกชอบ) สัมมาสมาธิ (ความตั้งใจมั่นชอบ).

ภิกษุ ท. ! เมื่อใดอริยสาวก ย่อมรู้ชัดซึ่ง กรรมอย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง นิทานสัมภวะแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง เวมัตตตาแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง วิบากแห่งกรรม อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธ อย่างนี้, รู้ชัดซึ่ง กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา อย่างนี้ ; อริยสาวกนั้น ย่อม รู้ชัดซึ่งพรหมจรรย์นี้ว่าเป็นเครื่องเจาะแทงกิเลส เป็นที่ดับไม่เหลือแห่งกรรม.

ภิกษุ ท. ! ข้อที่เรากล่าวแล้วว่า “กรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, นิทานสัมภวะแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, เวมัตตตาแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, วิบากแห่งกรรม เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธ เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ, กัมมนิโรธคามินีปฏิปทา เป็นสิ่งที่บุคคลควรทราบ” ดังนี้นั้น เราอาศัยความข้อนี้กล่าวแล้ว.

ฉกฺก. อํ. ๒๒/๔๕๘,๔๖๓ - ๔๖๔/๓๓๔.

********

กรรมอันบุคคลเจตนาแล้วย่อมกระทำด้วย กาย วาจา ใจ (ดังนั้นกรรมทางใด ที่กระทำโดยไม่เจตนา ย่อมไม่มี)

เหตุเป็นแดนเกิดของกรรม คือ ผัสสะ และความดับแห่งกรรม คือ การดับแห่งผัสสะ

[ผัสสะ (สัมผัส) อาศัยตาด้วย ๑ อาศัยรูปด้วย ๑ จึงเกิด จักขุวิญญาณ ๑ (เป็นต้น)

การถึงพร้อมด้วยธรรม ๓ ประการนี้ จึงเรียกว่า จักขุสัมผัส หรือ ผัสสะทางตา (เป็นต้น)]

วิญญาณ ๖ อันได้แก่

จักขุวิญญาณ(รู้แจ้งทางตา)

โสตวิญญาณ(รู้แจ้งทางหู)

ฆานะวิญญาณ(รู้แจ้งทางจมูก)

ชิวหาวิญญาณ(รู้แจ้งทางลิ้น)

กายวิญญาณ(รู้แจ้งทางสัมผัสทางกาย)

มโนวิญญาณ(รู้แจ้งทางธรรมารมณ์-เวทนา สัญญา สังขาร)

วิญญาณใดนี้ ย่อมมีที่ตั้งอาศัย

การจะบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ การอุบัติ ของวิญญาณใดๆ

โดยเว้นจาก รูป(รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส), เวทนา,สัญญา,สังขาร นั้น ไม่ใช่ฐานะที่จะมีได้

วิญญาณ(ใด) อาศัยรูปตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้

เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์

มีรูปเป็นที่เข้าไปตั้งอาศัย มีนันทิ(ความเพลิน) เป็นที่เข้าไปส้องเสพ

ก็ถึงความเจริญงอกงาม ไพบูลย์ได้

(สิ่งที่วิญญาณเข้าไปตั้งอาศัย พระศาสดาทรงเรียกสิ่งนั้นว่า ภพ คือ สถานที่เกิดของวิญญาณ หรือ อารมณ์ เป็นที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ อันได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร รวมเรียกภพเหล่านี้ว่า นามรูป เมื่อวิญญาณเข้าไปตั้งอาศัยในภพแล้ว กล่าวว่า ความมีภพได้เกิดขึ้น(ตอนที่วิญญาณยังไม่ได้เข้าไปตั้งอาศัย ภพ ก็มีของมันอยู่อย่างนั้น ก็เรียกว่า สถานที่เกิดของวิญญาณ เท่านั้น แต่พอวิญญาณเข้าไปตั้งอาศัยอยู่ ก็เรียกบัญญัติใหม่ว่า ความมีภพได้เกิดขึ้น)

นั้นคือวิญญาณที่ตั้งอยู่ได้ เจริญงอกงามอยู่ได้มีอยู่ในที่ใดๆ

การก้าวลงแห่งนามรูป(รูป เวทนา สัญญา สังขาร)ก็มีอยู่ในที่นั้นๆ

(วิญญาณย่อมตั้งอาศัยในกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเมื่อมีความน้อมไปหาภพ(ใด)แล้ว)

เมื่อการก้าวลงแห่งนามรูป มีอยู่ในที่ใด การเจริญแห่งสังขารทั้งหลายก็มีอยู่ในที่นั้น

การเจริญแห่งสังขารทั้งหลายมีอยู่ในที่ใด การบังเกิดขึ้นในภพใหม่ต่อไปย่อมมี

****

บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗/๑๐๖.

******

เมื่อบุคคลคิดถึงสิ่งใดอยู่(เจตนา) ดำริถึงสิ่งใดอยู่

และมีใจฝังลงไปในสิ่งใดอยู่

สิ่งนั้นย่อมเป็นอารมณ์เพื่อการตั้งอยู่ของวิญญาณ

เมื่อวิญญาณตั้งขึ้นเฉพาะแล้ว การก้าวลงสู่ภพย่อมมี

*****

( บาลี – นิทาน. สํ. ๑๖/๗๘/๑๔๕ )

******

พระศาสดาทรงอุปมา

เมล็ดพืช เปรียบเหมือน วิญญาณ

ผืนนา เปรียบเหมือนภพ

น้ำเปรียบเหมือนนันทิและราคะ

เมื่อเมล็ดพืชตกลงไปบนผืนนา

เปรียบเหมือนวิญญาณเข้าไปตั้งอาศัยในภพ

เมล็ดพืชย่อมถึงความเจริญงอกงามได้ด้วยน้ำ

เปรียบเหมือนวิญญาณเจริญงอกงามไพบูลย์ได้ด้วยความกำหนัดและความเพลิน

ส่วนอีกอุปมาหนึ่ง เมล็ดพืช เปรียบเหมือนวิญญาณ

เนื้อนาเปรียบเหมือน กรรม

ยางในเมล็ดพืชเปรียบเหมือนตัณหา

เมล็ดพืชตกลงไปบนเนื้อนา

เปรียบได้กับวิญญาณตั้งอาศัยอยู่ในกรรม

เมล็ดพืชถึงความเจริญงามไพบูลย์ได้ด้วยยางในเมล็ดพืช

เปรียบเหมือนกับตัณหาเป็นเชื้อแห่งการเกิดขึ้น(ใหม่) ชื่อว่าความมีภพเกิดขึ้น

ดังนั้น กรรม อันเป็นที่ตั้งอยู่ของวิญญาณ ก็คือ ภพ อันเป็นที่ที่วิญญาณตั้งอาศัยอยู่ได้ (กรรม = ภพ)

เช่น ตาไปเห็นรูป วิญญาณทางตาเข้าไปเกลือกกลั้วอยู่ในรูป อันเป็นวิสัยที่จะพึงรู้แจ้งได้ด้วยตาแล้ว กล่าวว่า

วิญญาณอาศัยรูปตั้งอยู่ รูปคือภพของวิญญาณ และ การเกิดขึ้นใหม่ของภพ ชื่อว่ากรรม(ใหม่)ได้เกิดขึ้น

*******

บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗/๑๐๖.

******

กรรม นั้นแบ่งได้เป็น

กรรมเก่า อันได้แก่ ตา หุ จมูก ลิ้น กาย ใจ นี้เป็นกรรมเก่า

เป็นสิ่งที่มีปัจจัยปรุงแต่งได้ เป็นสิ่งที่มีปัจจัยทำให้เกิดความรู้สึกขึ้น เป็นสิ่งที่มีความรู้สึกต่ออารมณ์ได้

กรรมใหม่ อันได้แก่ ผัสสะ เป็นเหตุเกิดของกรรมใหม่

******

******

การประจวบพร้อมด้วยองค์ ๓ นี้เรียกว่า ผัสสะ เช่น

ตา ไป เห็น รูป หากจักขุวิญญาณ(เข้าไปตั้งอาศัย) เข้าไปเกลือกกลั้วอยู่ในรูป

อันเป็นวิสัยที่จะรู้ได้ด้วยตาแล้ว ผัสสะทางตาย่อมถึงการเกิดขึ้น

(มีกรณีที่ ตา มอง รูป แต่ วิญญาณ( จิต หรือ มโน) ไม่ได้เข้าไปอยู่ในคลองแห่งจักขุ

ผัสสะย่อมไม่เกิด การหมายรู้ทางตาไม่มี(ขาดจักขุวิญญาณ) จึงไม่ถึงการประชุมพร้อมด้วยองค์ ๓ )

******

สฬา. สํ. ๑๘/๑๖๖/๒๒๗ - ๒๓๑.

*****

เพราะมีผัสสะ จึงเกิดเวทนา

เพราะมีเวทนา จึงมีตัณหา

เพราะมีตัณหา จึงมีอุปาทาน

เพราะมีอุปาทาน จึงมีภพ (กรรม)

เพราะมีภพ ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมี

ดังนั้น การปรากฏแห่งวิญญาณ(ใด) มีใดที่ใด

ชื่อว่าการปรากฏแห่งภพ (กรรม) ชาติ ชรา มรณะ ย่อมมีในที่นั้น

ความดับไปแห่งกรรม มีได้เพราะความดับไปแห่งผัสสะ

พิจารณาการเกิดขึ้นแห่งผัสสะอันเป็นเครื่องนำไปสู่ภพย่อมมีเพราะ

อาศัยการน้อมไปแห่งวิญญาณ

ด้วยอาศัยตัณหานี้ใด อันทำความเกิดใหม่ให้เป็นปกติ

เป็นไปกันกับด้วยความกำหนัด(ราคะ) เพราความเพลิน(นันทิ) มักเพลินอย่างยิ่งในอารมณ์ (ภพ-กรรม)

นี้เป็นเครื่องเข้าไปตั้งอาศัย เครื่องถึงทับ เป็นอนุสัยแห่งจิต

ที่เข้าไปมีอยู่ใน รูป เวทนา สัญญา สังขาร อันเป็นภพ(กรรม) ของจิต(วิญญาณ)

หากจะดับกรรม คือ ภพอันทำความเกิดใหม่

ก็ต้องดับที่ผัสสะ คือเหตุเกิดของกรรม

เธอย่อมกระจายเสียให้ถูกวิธี

พระศาสดาจึงทรงให้กระจายเสียซึ่งผัสสะ

ให้พิจารณาเห็นถึงองค์ประกอบทั้ง ๓ นั้น

อาศัยกันและกันในการเกิดขึ้น เป็นสิ่งที่ไม่เที่ยง เป็นทุกข์(ดับลงไปได้) ไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง

สิ่งที่อาศัยกันแล้วเกิดขึ้นเป็นผัสสะเป็นของที่ไม่เที่ยง

แล้วผัสสะจะเป็นของเที่ยงแต่ไหน

และสิ่งที่เป็นผลตามมาจากผัสสะเป็นปัจจัยก็ย่อมเป็นของไม่เที่ยง

*****

-บาลี สฬา. สํ. ๑๘/๘๕/๑๒๔.

******

มรรควิธี

ดังนั้นการพิจาณาสิ่งที่ประจวบกันพร้อมเป็นผัสสะ(ได้แก่ สังขารทั้งหลาย รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ)

โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวตนนั้น

จะต้องเป็นผู้ที่เห็นซึ่งอริยสัจ ๔ คือ

เห็นการเกิดขึ้น และดับไปของสังขารทั้งหลาย เช่น

เห็นความเกิดและดับของ

ในจักษุ

ในจักขุวิญญาณ

ในธรรมที่รู้ได้ด้วยจักขุวิญญาณ

เมื่อเห็นตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้แล้ว จึงพิจารณาเห็น

จักษุ

จักขุวิญญาณ

และธรรมที่รู้ได้ด้วยจักขุวิญญาณว่า

นั่นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เป็นเรา ไม่ใช่ตัวตนของเรา

ปฏิปทานี้เป็นความดับไม่เหลือซึ่งสักกายะ(คืออุปาทานในขันธ์ทั้งหลาย)

เพราะความสิ้นไปแห่งความเพลิน จึงมีความสิ้นไปแห่งอุปาทาน

*******

ปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ หน้า ๔๙๒

(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๓๙๐/๘๒๑

******

เมื่อเห็นด้วยปัญญา ตรงตามที่เป็นจริงอยู่อย่างนี้แล้ว

ขันธ์ ธาตุ อายตนะ มีอยู่ประมารเท่าไร

ย่อมไม่มั่นหมายซึ่ง ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น

ย่อมไม่มั่นหมายใน ขันธ์ ธาตุอายตนะนั้น

ย่อมไม่มั่นหมายโดยความเป็น ขันธ์ ธาตุ อายตนะ นั้น

และย่อมไม่มั่นหมาย ขันธ์ ธาตุ อายตนะนั้น ว่าของเรา

นี้เป็นปฏิปทาเพื่อเพิกถอนความมั่นหมายในสิ่งทั้งปวง

เมื่อ ราคะ ที่มีอยู่ใน รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์ และวิญญาณขันธ์ อันบุคคลละได้แล้ว

วิญญาณย่อมไม่มีที่ตั้งอาศัย ก็ไม่เจริญงอกงาม

ดับลงไปได้เพราะไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่ง

เมื่อวิญญาณไม่มีอยุ่ในที่ใด การก้าวลงแห่งนามรูปย่อมดับไปในที่นั้น

ที่ใดที่ไม่มีวิญญาณและนามรูป ที่นั้นคือความดับไม่เหลือแห่งสังขารทั้งหลาย

เป็นความดับไปไม่เหลือแห่งทุกข์

จะป่วยกล่าวไปใยถึงการดับแห่งกรรม

********

สักแต่ว่า... (นัยที่ ๑)

พาหิยะ ! เมื่อใดเธอ

เห็น รูป แล้ว สักว่าเห็น,

ได้ฟังเสียง แล้ว สักว่าฟัง,

ได้กลิ่น, ลิ้มรส, สัมผัสทางผิวกาย, ก็สักว่า

ดม ลิ้ม สัมผัส,

ได้รู้แจ้งธรรมารมณ์ ก็สักว่าได้รู้แจ้งแล้ว ;

เมื่อนั้น “เธอ” จักไม่มี.

เมื่อใด “เธอ” ไม่มี ;

เมื่อนั้นเธอก็ไม่ปรากฏในโลกนี้,

ไม่ปรากฏในโลกอื่น,

ไม่ปรากฏในระหว่างแห่งโลกทั้งสอง :

นั่นแหละ คือที่สุดแห่งทุกข์ละ.

อุ. ขุ. ๒๕ / ๘๓ / ๔๙.

*******

******

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น