พราหมณ์ ๕ จำพวก
๒. โทณสูตร
[๑๙๒] ครั้งนั้นแล โทณพราหมณ์เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาค
ถึงที่ประทับได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่งณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลว่า
-
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า
พระสมณะโคดมไม่อภิวาท
ไม่ลุกรับ
หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ
ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว
ข้อนั้นเห็นจะเป็นเหมือนอย่างนั้น
เพราะท่านพระโคดมไม่อภิวาท
ไม่ลุกรับ
หรือไม่เชื้อเชิญด้วยอาสนะ
ซึ่งพราหมณ์ผู้แก่เฒ่าเป็นผู้ใหญ่ล่วงกาลผ่านวัยแล้ว
ข้อนี้ไม่ดีเลย
-
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรโทณะ
แม้ท่านก็ย่อมปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์มิใช่หรือ ฯ
-
ท. ข้าแต่ท่านพระโคดม
ผู้ใดเมื่อกล่าวโดยชอบ พึงกล่าวว่าเป็นพราหมณ์
-
อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เป็นผู้เล่าเรียน
ทรงมนต์รู้จบไตรเพท
พร้อมทั้งคัมภีร์นิฆัณฑุและเกฏุภะ
พร้อมทั้งอักขระประเภท มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ห้า
เข้าใจตัวบท เข้าใจไวยากรณ์
เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ
และตำราทำนายมหาปุริสลักษณะ
ผู้นั้นเมื่อกล่าวโดยชอบ
พึงหมายซึ่งข้าพระองค์นั้นเทียว
-
เพราะข้าพระองค์เป็นพราหมณ์อุภโตสุชาติทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เป็นผู้เล่าเรียน ทรงมนต์ รู้จบไตรเพท
พร้อมด้วยคัมภีร์นิฆัณฑุและเกฏุภะ พร้อมทั้งอักขระประเภท
มีคัมภีร์อิติหาสะเป็นที่ห้า
เข้าใจตัวบทเข้าใจไวยากรณ์ เป็นผู้ชำนาญในคัมภีร์โลกายตะ
และตำราทายมหาปุริสลักษณะ ฯ
-
พ. ดูกรโทณะ
บรรดาฤาษีผู้เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์
คือ ฤาษีอัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ
ฤาษีเวสสามิตตระ ฤาษียมตัคคี ฤาษีอังคีรส ฤาษีภารทวาชะ
ฤาษีวาเสฏฐะ ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ
ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์ พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้
ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้
ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง
บอกได้ถูกต้องตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้
ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวกนี้
คือ
-
พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ๑
พราหมณ์เสมอด้วยเทวดา ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑
พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕
-
ดูกรโทณะท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน
ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ
-
โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ข้าพระองค์ไม่รู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้
แต่ข้าพระองค์รู้ว่าเป็นพราหมณ์เท่านั้น
ขอพระโคดมผู้เจริญโปรดแสดงธรรมแก่ข้าพระองค์
โดยประการที่ข้าพระองค์จะพึงรู้จักพราหมณ์ ๕ จำพวกนี้ ฯ
-
พ. ดูกรโทณะ ถ้าเช่นนั้น ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว ฯ
โทณพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคว่า พระเจ้าข้า
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า ดูกรโทณะ
ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยพรหมอย่างไร
พราหมณ์ในโลกนี้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี
ครั้นแล้ว
-
ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว
ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม
-
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร
คือ ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม
พาณิชยกรรม
โครักขกรรม
การเป็นนักรบ
การรับราชการ
ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว
-
มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว
ปลงผมและหนวดนุ่งห่มผ้ากาสายะ
ออกบวชเป็นบรรพชิต
เขาบวชแล้วอย่างนี้
มีใจประกอบด้วยเมตตา
แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ตามนัยนี้ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า ในที่ทุกสถาน
ด้วยใจประกอบด้วยเมตตา อันไพบูลย์ ถึง
ความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่ ฯ
-
มีใจประกอบด้วยกรุณา
... ประกอบด้วยมุทิตา
... ประกอบด้วยอุเบกขา
แผ่ไปตลอดทิศหนึ่งอยู่ ทิศที่ ๒ ที่ ๓ ที่ ๔ ก็เหมือนกัน
ตามนัยนี้ ทั้งเบื้องบน เบื้องล่าง เบื้องขวาง
แผ่ไปตลอดโลก ทั่วสัตว์ทุกเหล่า
ในที่ทุกสถานด้วยใจประกอบด้วยอุเบกขาอันไพบูลย์
ถึงความเป็นใหญ่ หาประมาณมิได้ไม่มีเวร ไม่มีความเบียดเบียนอยู่
เธอเจริญพรหมวิหาร ๔ ประการนี้แล้ว
-
เมื่อตายไปย่อมเข้าถึงสุคติพรหมโลก
-
ดูกรโทณะ
พราหมณ์เป็นผู้ชื่อว่าเสมอด้วยพรหมอย่างนี้แล ฯ
-
ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างไร
พราหมณ์ในโลกนี้เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดตลอด ๗ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครๆ จะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี
ครั้นแล้ว
-
ย่อมแสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรม
ไม่แสวงหาอย่างไม่เป็นธรรม
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ
-
ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม
พาณิชยกรรม
โครักขกรรม
การเป็นนักรบ
การรับราชการ
ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว
-
มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว
ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว
ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ
-
ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ
ด้วยการขาย
ย่อมแสวงหาพราหมณีเฉพาะที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ
เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี
ไม่สมสู่ด้วยสตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล
เนสาท ช่างจักสาน ช่างทำรถ เทหยากเยื่อ
-
สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู
-
ดูกรโทณะ เพราะเหตุไรพราหมณ์จึงไม่สมสู่ สตรีมีครรภ์
เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีครรภ์ไซร้
มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ
เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์
-
เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน
เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้
มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน
-
พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์
มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี
ต้องการบุตรอย่างเดียว
เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว
จึงปลงผมและหนวด
นุ่งห่มผ้ากาสายะ ออกบวชเป็นบรรพชิต
-
เขาบวชแล้วอย่างนี้สงัดจากกาม ฯลฯ บรรลุจตุตถฌาน
ไม่มีทุกข์ ไม่มีสุข เพราะละสุขละทุกข์และดับโสมนัสโทมนัสก่อนๆ ได้
มีอุเบกขาเป็นเหตุให้สติบริสุทธิ์อยู่
เธอเจริญฌาณทั้ง ๔ ประการนี้แล้ว
เมื่อตายไป ย่อมเข้าถึงสุคติโลกสวรรค์
-
ดูกรโทณะ
พราหมณ์เป็นผู้เสมอด้วยเทวดาอย่างนี้แล ฯ
-
ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีอย่างไร
พราหมณ์ในโลกนี้
เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์ เรียนมนต์อยู่ตลอด ๔๘ ปี
ครั้นแล้ว
-
แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว
ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ
ไม่ใช่แสวงหาด้วยกสิกรรม
พาณิชยกรรม
โครักขกรรม
การเป็นนักรบ
การรับราชการ
ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
เขาถือ กระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว
มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว
-
ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมอย่างเดียว
ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ
ไม่แสวงหาด้วยการซื้อ การขาย
ย่อมแสวงหาพราหมณีเฉพาะผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ
เขาย่อมสมสู่เฉพาะพราหมณี
ไม่สมสู่สตรีชั้นกษัตริย์ แพศย์ ศูทร จัณฑาล เนสาท ช่างจักสาน
ช่างทำรถ เทหยากเหยื่อ สตรีมีครรภ์ มีลูกอ่อน ไม่มีระดู
-
ดูกรโทณะ เพราะเหตุไรพราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์
เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์ย่อมสมสู่สตรีมีครรภ์ไซร้
มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าเกิดแต่กองอุจจาระ
เพราะฉะนั้นพราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีครรภ์
-
เพราะเหตุไร พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน
เพราะเหตุว่า ถ้าพราหมณ์สมสู่สตรีมีลูกอ่อนไซร้
มาณพหรือมาณวิกาย่อมเป็นผู้ชื่อว่าดื่มของไม่สะอาด
เพราะฉะนั้น พราหมณ์จึงไม่สมสู่สตรีมีลูกอ่อน
-
พราหมณีนั้นย่อมเป็นพราหมณีของพราหมณ์
มิใช่ต้องการความใคร่ ความสนุก ความยินดี
ต้องการบุตรอย่างเดียว
เขามีบุตรหรือธิดาแล้ว
ปรารถนาความยินดีในบุตรหรือธิดานั้น
ครอบครองทรัพย์สมบัติ
-
ไม่ออกบวชเป็นบรรพชิต
เขาดำรงอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน
ไม่ล่วงละเมิด
พราหมณ์ผู้ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน
ไม่ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้แล
ชาวโลกจึงเรียกว่าพราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี
-
ดูกรโทณะ
พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีอย่างนี้แล ฯ
-
ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีชั่วอย่างไร
พราหมณ์ในโลกนี้
เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์ อยู่ ๔๘ ปี
ครั้นแล้ว
-
แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมอย่างเดียว
ไม่แสวงหาโดยไม่เป็นธรรม
ก็ธรรมในการแสวงหานั้นอย่างไร คือ
ไม่แสวงหาด้วยกสิกรรม
พณิชยกรรม
โครักขกรรม
การเป็นนักรบ
การรับราชการ
ศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว
มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว
-
ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้าง โดยไม่เป็นธรรมบ้าง
ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง
ย่อมแสวงหาพราหมณีผู้ที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ
เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง
ชั้นศูทรบ้าง ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นจักสานบ้าง
ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง
มีลูกอ่อนบ้าง มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง
พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์
ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดีบ้าง
ต้องการบุตรบ้าง
-
เขาไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน
ล่วงละเมิดพราหมณ์ผู้ไม่ตั้งอยู่ในความประพฤติดีของพราหมณ์แต่ปางก่อน
ล่วงละเมิด เพราะเหตุดังนี้
พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่าผู้มีความประพฤติดีและชั่ว
-
ดูกรโทณะ
พราหมณ์เป็นผู้มีความประพฤติดีและชั่วอย่างนี้แล ฯ
-
ดูกรโทณะ ก็พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างไร
พราหมณ์ในโลกนี้
เป็นอุภโตสุชาตทั้งฝ่ายมารดาและบิดา
มีครรภ์เป็นที่ถือปฏิสนธิหมดจดดีตลอด ๗ ชั่วบรรพบุรุษ
ไม่มีใครจะคัดค้านติเตียนได้โดยอ้างถึงชาติ
-
เขาประพฤติโกมารพรหมจรรย์เรียนมนต์อยู่ตลอด๔๘ ปี
ครั้นแล้ว
-
แสวงหาทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์เพื่ออาจารย์โดยธรรมบ้าง
โดยไม่เป็นธรรมบ้าง
ด้วยกสิกรรมบ้าง
ด้วยพาณิชยกรรมบ้าง
ด้วยโครักขกรรมบ้าง
ด้วยการเป็นนักรบบ้าง
ด้วยการรับราชการบ้าง
ด้วยศิลปะอย่างใดอย่างหนึ่ง
-
เขาถือกระเบื้องเที่ยวภิกขาจารอย่างเดียว
-
มอบทรัพย์สำหรับบูชาอาจารย์แก่อาจารย์แล้ว
-
ย่อมแสวงหาภรรยาโดยธรรมบ้างโดย ไม่เป็นธรรมบ้าง
ด้วยการซื้อบ้าง ด้วยการขายบ้าง
ย่อมแสวงหาพราหมณีที่เขายกให้ด้วยการหลั่งน้ำ
เขาย่อมสมสู่พราหมณีบ้าง สตรีชั้นกษัตริย์บ้าง ชั้นแพศย์บ้าง ชั้นศูทรบ้าง
ชั้นจัณฑาลบ้าง ชั้นเนสาทบ้าง ชั้นช่างจักสานบ้าง
ชั้นช่างทำรถบ้าง ชั้นเทหยากเยื่อบ้าง มีครรภ์บ้าง มีลูกอ่อนบ้าง
มีระดูบ้าง ไม่มีระดูบ้าง พราหมณีนั้นเป็นพราหมณีของพราหมณ์
ต้องการความใคร่บ้าง ความสนุกบ้าง ความยินดีบ้าง
ต้องการบุตรบ้าง
-
เขาสำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง
พวกพราหมณ์ได้กล่าวกะเขาอย่างนี้ว่า
ท่านปฏิญาณว่าเป็นพราหมณ์
เพราะเหตุไรจึงสำเร็จการเลี้ยงชีพ
ด้วยการงานทุกอย่าง
เขาได้ตอบอย่างนี้ว่า ท่านผู้เจริญ
เปรียบเหมือนไฟย่อมไหม้สิ่งที่สะอาดบ้าง สิ่งที่ไม่สะอาดบ้าง
แต่ไฟย่อมไม่ติดด้วยสิ่งนั้น
แม้ฉันใด ถ้าแม้พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่างไซร้
แต่พราหมณ์ย่อมไม่ติดด้วยการงานนั้น ฉันนั้นเหมือนกัน
พราหมณ์สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยการงานทุกอย่าง
เพราะเหตุดังนี้แล
พราหมณ์ชาวโลกจึงเรียกว่า พราหมณ์จัณฑาล
-
ดูกรโทณะ
พราหมณ์ผู้เป็นพราหมณ์จัณฑาลอย่างนี้แล ฯ
-
ดูกรโทณะ บรรดาฤาษีที่เป็นบุรพาจารย์ของพวกพราหมณ์
คือ ฤาษี อัฏฐกะ ฤาษีวามกะ ฤาษีวามเทวะ ฤาษีเวสสามิตตระ
ฤาษียมตัคคิ ฤาษีอังคีรสฤาษีภารทวาชะ ฤาษีวาเสฏฐะ
ฤาษีกัสสปะ ฤาษีภัคคุ
ซึ่งเป็นผู้ผูกมนต์ บอกมนต์
พวกพราหมณ์ในปัจจุบันนี้
ขับตาม กล่าวตาม ซึ่งบทมนต์ของเก่านี้
ที่ท่านขับแล้ว บอกแล้ว รวบรวมไว้แล้ว กล่าวได้ถูกต้อง
บอกได้ถูกต้อง ตามที่ท่านกล่าวไว้ บอกไว้
ฤาษีเหล่านั้นย่อมบัญญัติพราหมณ์ไว้ ๕ จำพวก
-
คือ พราหมณ์ผู้เสมอด้วยพรหม ๑
พราหมณ์ผู้เสมอด้วยเทวดา ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดี ๑
พราหมณ์ผู้มีความประพฤติดีและชั่ว ๑
พราหมณ์จัณฑาลเป็นที่ ๕
-
ดูกรโทณะ ท่านเป็นพราหมณ์จำพวกไหน
ในจำพวกพราหมณ์ ๕ จำพวกนั้น ฯ
-
โท. ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ เมื่อเป็นเช่นนี้
ข้าพระองค์ย่อมไม่ยังแม้พราหมณ์จัณฑาลให้เต็มได้
-
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรมโดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปในที่มืดด้วยหวังว่า
ผู้มีจักษุ จักเห็นรูป ฉะนั้น
-
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ข้าพระองค์นี้ขอถึงพระองค์กับทั้งธรรมและพระภิกษุสงฆ์
ว่าเป็นสรณะ
ขอพระองค์โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
จำเดิม
แต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
จบสูตรที่ ๒
-
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต
หน้าที่ ๒๐๑ ข้อที่ ๑๙๒
http://etipitaka.com/read/thai/22/201/…
-
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น