วันพฤหัสบดีที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2559

พุทธวจน เราไปดูนิพพานได้หรือไม่?



เราไปดูนิพพานได้หรือไม่?..มารู้จัก..วิญญาณ..พระอาจารย์แจกแจงละเอียดลึกซึ่งมาก คลิปนี้..โดน lock spec โดย ปฏิจจสมุปบาท...วิญญาณรู้ได้แค่..นามรูป..รู้นิพพานไม่ได้..ประมาณนาทีที่ 19.35 :: โยนิโสมนสิการ.ระลึกถึงพระสูตร.ขบวนการแทงตลอดอย่างดีด้วยความเห็น ::
http://watnapp.com/
**********
*****
#ความหมายของคำว่า “วิญญาณ”
ภิกษุ ท.! คนทั่วไปกล่าวกันว่า “วิญญาณ”
เพราะอาศัยความหมายอะไรเล่า ?
ภิกษุ ท.! เพราะกิริยาที่รู้แจ้ง (ต่ออารมณ์ที่มากระทบ) ได้
มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูกเรียกว่า วิญญาณ.
--------
สิ่งนั้นย่อมรู้แจ้ง ซึ่งอะไร ? สิ่งนั้น
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเปรี้ยวบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความขมบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเผ็ดร้อนบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความหวานบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความขื่นบ้าง,
ย่อมรู้แจ้งซึ่งความความไม่ขื่นบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความเค็มบ้าง,
ย่อมรู้แจ้ง ซึ่งความไม่เค็มบ้าง (ดังนี้เป็นต้น)
------
ภิกษุ ท.! เพราะกิริยาที่รู้แจ้ง (ต่ออารมณ์ที่มากระทบ) ได้
มีอยู่ในสิ่งนั้น (เช่นนี้แล) ดังนั้น สิ่งนั้น จึงถูก
เรียกว่า วิญญาณ.
- สฬา. สํ. ๑๘/๒๖๖/๓๘๙-๓๙๐.
*******
****
วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง
ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืชมี ๕ อย่างเหล่านี้ ๕ อย่างเหล่าไหนเล่า ? ๕ อย่าง คือ

(๑) พืชจากเหง้าหรือราก (มูลพีช)
(๒) พืชจากต้น (ขนฺธพีช)
(๓) พืชจากตาหรือผล (ผลพีช)
(๔) พืชจากยอด (อคฺคพีช)
(๕) พืชจากเมล็ด (พีชพีช)

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านี้ ที่ไม่ถูกทำลาย ยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี แต่ดิน น้ำ ไม่มี

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้น จะพึงเจริญงอกงามไพบูลย์ ได้แลหรือ ? หาเป็นเช่นนั้นไม่ พระเจ้าข้า !

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าสิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านี้แหละ ที่ไม่ถูกทำลายยังไม่เน่าเปื่อย ยังไม่แห้งเพราะลมและแดด ยังมีเชื้องอกบริบูรณ์อยู่ และอันเจ้าของเก็บไว้ด้วยดี ทั้งดิน น้ำ ก็มีด้วย

ภิกษุทั้งหลาย ! สิ่งที่ใช้เป็นพืช ๕ อย่าง เหล่านั้นจะพึงเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ ได้มิใช่หรือ ? อย่างนั้น พระเจ้าข้า !

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณฐิติ ๔ อย่าง (รูป เวทนา สัญญา สังขาร) พึงเห็นว่า เหมือนกับ ดิน

ภิกษุทั้งหลาย ! นันทิราคะ (ความกำหนัดด้วยอำนาจแห่งความเพลิน) พึงเห็นว่าเหมือนกับ นํ้า

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งประกอบด้วยปัจจัย พึงเห็นว่าเหมือนกับ พืชสดทั้ง ๕ นั้น
ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอารูป ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีรูปเป็นอารมณ์ มีรูปเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาเวทนา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีเวทนาเป็นอารมณ์ มีเวทนาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสัญญา ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสัญญาเป็นอารมณ์ มีสัญญาเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! วิญญาณ ซึ่งเข้าถือเอาสังขาร ตั้งอยู่ ก็ตั้งอยู่ได้ เป็นวิญญาณที่มีสังขารเป็นอารมณ์ มีสังขารเป็นที่ตั้งอาศัย มีนันทิเป็นที่เข้าไปส้องเสพ ก็ถึงความเจริญ งอกงาม ไพบูลย์ได้

ภิกษุทั้งหลาย ! ผู้ใดจะพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักบัญญัติซึ่งการมา การไป การจุติ (การตาย) การอุบัติ (การเกิด) ความเจริญ ความงอกงาม และความไพบูลย์ของวิญญาณ โดยเว้นจากรูป เว้นจากเวทนา เว้นจากสัญญา และเว้นจากสังขาร ดังนี้นั้น นี่ไม่ใช่ฐานะที่จักมีได้เลย

ภิกษุทั้งหลาย ! ถ้าราคะในรูปธาตุ ในเวทนาธาตุ ในสัญญาธาตุ ในสังขารธาตุ ในวิญญาณธาตุ เป็นสิ่งที่ภิกษุละได้แล้ว เพราะละราคะได้ อารมณ์สำหรับวิญญาณก็ขาดลง ที่ตั้งของวิญญาณก็ไม่มี วิญญาณอันไม่มีที่ตั้งนั้น ก็ไม่งอกงาม หลุดพ้นไป เพราะไม่ถูกปรุงแต่ง เพราะหลุดพ้นไป ก็ตั้งมั่น เพราะตั้งมั่น ก็ยินดีในตนเอง เพราะยินดีในตนเอง ก็ไม่หวั่นไหว เมื่อไม่หวั่นไหว ก็ปรินิพพานเฉพาะตน ย่อมรู้ชัดว่า ชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้สำเร็จแล้ว กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ มิได้มีอีก ดังนี้

บาลี ขนฺธ. สํ. ๑๗/๖๗/๑๐๖.
*******
****
วิญญาณ คือ เหตุแห่งการเกิดขึ้นของสัตว์
อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “นามรูปมี เพราะปัจจัย
คือ วิญญาณ” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย
โดยปริยายดังต่อไปนี้ ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า
“นามรูปมี เพราะปัจจัย คือ วิญญาณ” :
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณจักไม่ก้าวลง
ในท้องแห่งมารดาแล้วไซร้; นามรูปจักปรุงตัวขึ้นมา
ในท้องแห่งมารดาได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณก้าวลงในท้อง
แห่งมารดาแล้ว จักสลายลงเสียแล้วไซร้; นามรูปจักบังเกิดขึ้น
เพื่อความเป็นอย่างนี้ได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณของเด็กอ่อน ที่เป็นชาย
ก็ตาม เป็นหญิงก็ตาม จักขาดลงเสียแล้วไซร้; นามรูป
จักถึงซึ่งความเจริญ ความงอกงาม ความไพบูลย์บ้างหรือ ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”
อานนท์ ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้, นั่นแหละ
คือเหตุ, นั่นแหละคือนิทาน, นั่นแหละคือสมุทัย, นั่นแหละ
คือปัจจัย ของนามรูป; นั้นคือ วิญญาณ.
อานนท์ ! ก็คำนี้ว่า “วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือ
นามรูป” ดังนี้, เช่นนี้แล เป็นคำที่เรากล่าวแล้ว.
อานนท์ ! ความข้อนี้ เธอต้องทราบอธิบาย
โดยปริยายดังต่อไปนี้ที่ตรงกับหัวข้อที่เรากล่าวไว้แล้วว่า
“วิญญาณมี เพราะปัจจัยคือนามรูป”
อานนท์ ! ถ้าหากว่าวิญญาณ จักไม่ได้มีที่ตั้ง
ที่อาศัยในนามรูป แล้วไซร้; ความเกิดขึ้นพร้อมแห่งทุกข์
คือ ชาติ ชรา มรณะ ต่อไป จะมีขึ้นมาให้เห็นได้ไหม ?
“ข้อนั้น หามิได้พระเจ้าข้า !”
อานนท์ ! เพราะเหตุนั้นแหละ ในเรื่องนี้, นั่นแหละ
คือเหตุ, นั่นแหละ คือนิทาน, นั่นแหละคือสมุทัย, นั่นแหละ
คือปัจจัยของวิญญาณ; นั่นคือ นามรูป.
อานนท์ !
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้
สัตว์โลก จึงเกิดบ้าง จึงแก่บ้าง
จึงตายบ้าง จึงจุติบ้าง จึงอุบัติบ้าง :
คลองแห่งการเรียก (อธิวจน) ก็มีเพียงเท่านี้,
คลองแห่งการพูดจา (นิรุตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,
คลองแห่งการบัญญัติ (ปญฺญตฺติ) ก็มีเพียงเท่านี้,
เรื่องที่จะต้องรู้ด้วยปัญญา (ปญฺญาวจร) ก็มีเพียงเท่านี้,
ความเวียนว่ายในวัฏฏะ ก็มีเพียงเท่านี้:
นามรูปพร้อมทั้งวิญญาณตั้งอยู่
เพื่อการบัญญัติซึ่งความเป็นอย่างนี้
(ของนามรูปกับวิญญาณ นั่นเอง)
********
****
พระนิพพาน
พระพุทธดำรัส
นิพพานสูตรที่ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ไฟ ลม อากาสานัญจายตนะ (ความว่าง) วิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณ) อากิญจัญญายตนะ (ความไร้สูญ) เนวสัญญานาสัญญายตนะ (ภาวะที่มีความจำก็ใช่หรือไม่มีก็ไม่ใช่) โลกนี้ โลกหน้า พระจันทร์ และพระอาทิตย์ทั้งสอง ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น
ดูกรภิกษุทั้งหลายเราย่อมไม่กล่าวซึ่งอายตนะนั้นว่า เป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุปบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยมิได้ มิได้เป็นไปหาอารมณ์มิได้ นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
(นิพพานสูตรที่ ๑ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๕๘/๑๔๓)
*****
***
นิพพานสูตรที่ ๓
พุทธอุทาน:
ฐานะที่บุคคลเห็นได้ยากชื่อว่านิพพาน ไม่มีตัณหา
นิพพานนั้นเป็นธรรมจริงแท้ ไม่เห็นได้โดยง่ายเลย ตัณหาอันบุคคลแทงตลอดแล้ว กิเลสเครื่องกังวลย่อมไม่มีแก่บุคคลผู้รู้ ผู้เห็นอยู่
(นิพพานสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๕๙/๑๔๓)
*********
*****
นิพพานสูตรที่ ๓
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ธรรมชาติไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้วอันปัจจัย กระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว จักไม่ได้มีแล้วไซร้ การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้วเป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้ว จะไม่พึงปรากฏในโลกนี้เลย
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็เพราะธรรมชาติอันไม่เกิดแล้ว ไม่เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำไม่ได้แล้ว ปรุงแต่งไม่ได้แล้ว มีอยู่ ฉะนั้น การสลัดออกซึ่งธรรมชาติที่เกิดแล้ว เป็นแล้ว อันปัจจัยกระทำแล้ว ปรุงแต่งแล้วจึงปรากฏ
(นิพพานสูตรที่ ๒ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๖๐/๑๔๔)
*********
*******
นิพพานสูตรที่ ๔
พุทธอุทาน:
ความหวั่นไหวย่อมมีแก่บุคคลผู้อันตัณหาและทิฐิอาศัย ย่อมไม่มีแก่ผู้อันตัณหาและทิฐิไม่อาศัย
เมื่อความหวั่นไหวไม่มี ก็ย่อมมีปัสสัทธิ (ความสงบ)
เมื่อมีปัสสัทธิ ก็ย่อมไม่มีความยินดี
เมื่อไม่มีความยินดี ก็ย่อมไม่มีการมา การไป
เมื่อไม่มีการมา การไป ก็ไม่มีการจุติและอุปบัติ
เมื่อไม่มีการจุติและอุปบัติ โลกนี้โลกหน้าก็ไม่มี ระหว่างโลกทั้งสองก็ไม่มี
นี้แลเป็นที่สุดแห่งทุกข์
(นิพพานสูตรที่ ๔ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๑๖๑/๑๔๕)
*********
*****
เจริญมรรค ดับสังโยชน์ เพื่อบรรลุธรรม
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องต่ำ ๕ คือ
สักกายทิฏฐิ (การเห็นว่าสิ่งใดสิ่งหนึ่งเป็นตน) ๑
วิจิกิจฉา (ความลังเลสงสัยในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์) ๑
สีลัพพตปรามาส (ความประมาทในศีลพรต) ๑
กามฉันทะ (ความยินดีในการเสพทางตาหูจมูกลิ้นกาย) ๑
พยาบาท (ความผูกโกรธ) ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุควรเจริญอริยมรรคอันประกอบด้วยองค์ ๘ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อกำหนดรู้ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์อันเป็นส่วนเบื้องสูง ๕ คือ
รูปราคะ (ความยินดีเพลิดเพลินในรูป) ๑
อรูปราคะ (ความยินดีเพลิดเพลินในอรูป) ๑
มานะ (ความถือตัว) ๑
อุทธัจจะ (ความฟุ้งซ่าน) ๑
อวิชชา (ความหลงผิด) ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ ย่อมเจริญสัมมาทิฏฐิ (ความเข้าใจถูกต้อง) สัมมาดำริ (ความตั้งใจถูกต้อง) สัมมาวาจา (การพูดจาถูกต้อง) สัมมากัมมันโต (ความประพฤติถูกต้อง) สัมมาอาชีโว (การเลี้ยงชีพถูกต้อง) สัมมาวายาโม (ความขยันถูกต้อง) สัมมาสติ (การกำหนดรู้ถูกต้อง) สัมมาสมาธิ (ความมีใจตั้งมั่นถูกต้อง) อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ น้อมไปในการสละ เพื่อความสิ้นไป เพื่อละสังโยชน์
(พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๙/๓๔๙-๓๕๒/๙๐)
********
****
เข้าฌาน ละขันธ์ห้า น้อมจิตสู่อมตธาตุ เพื่อเข้านิพพาน
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เรากล่าวความสิ้นไปแห่งอาสวะทั้งหลายเพราะอาศัยปฐมฌานบ้าง ทุติยฌานบ้าง ตติยฌานบ้าง จตุตถฌานบ้าง อากาสนัญจายตนฌานบ้าง วิญญาณัญจายตนฌานบ้าง อากิญจัญยายตนฌานบ้าง เนวสัญญานาสัญญายตนฌานบ้าง
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้สงัดจากกาม สงัดจากอกุศลธรรม บรรลุฌาน เธอย่อมพิจารณาเห็นธรรมทั้งหลาย คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ โดยความเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นโรค เป็นดังหัวฝี เป็นดังลูกศร ไม่มีสุข เป็นอาพาธ เป็นของผู้อื่น เป็นของชำรุด ว่างเปล่า เป็นอนัตตา เธอย่อมยังจิตให้ตั้งอยู่ด้วยธรรมเหล่านั้น ครั้นแล้ว เธอย่อมโน้มจิตไปเพื่ออมตธาตุว่า นั่นสงบ นั่นประณีต คือ ธรรมเป็นที่สงบแห่งสังขารทั้งปวง ความสละคืนอุปธิทั้งปวง ความสิ้นตัณหา ความคลายกำหนัด ความดับ นิพพาน
(ฌานสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๓/๒๔๐/๑๔๑
********
*****
ปรินิพพานสูตรที่ ๕
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ที่สาลวัน ครั้งนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายมาว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย บัดนี้ เราขอเตือนเธอทั้งหลายว่า สังขารทั้งหลายมีความเสื่อม ไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังกิจทั้งปวงให้ถึงพร้อมด้วยความไม่ประมาทเถิด นี้เป็นวาจาครั้งสุดท้ายของตถาคต
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌานออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ออกจากวิญญาณัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติ ออกจากสัญญาเวทยิตนิโรธสมาบัติแล้วทรงเข้าเนวสัญญานาสัญญายตนฌาน ออกจากเนวสัญญานาสัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากิญจัญญายตนฌาน ออกจากอากิญจัญญายตนฌานแล้ว ทรงเข้าวิญญาณัญจายตนฌาน ออกจากวิญญานัญจายตนฌานแล้ว ทรงเข้าอากาสานัญจายตนฌาน ออกจากอากาสานัญจายตนฌานแล้วทรงเข้าจตุตถฌาน ออกจากจตุตถฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌาน ออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าปฐมฌาน ออกจากปฐมฌานแล้ว ทรงเข้าทุติยฌานออกจากทุติยฌานแล้ว ทรงเข้าตติยฌาน ออกจากตติยฌานแล้ว ทรงเข้าจตุตถฌานพระผู้มีพระภาคออกจากจตุตถฌานแล้ว เสด็จปรินิพพานในลำดับนั้น
(นิพพาน ไม่ใช่รูป ไม่ใช่นาม อยู่เหนือรูปกับนาม จึงทรงออกระหว่างรูปฌานกับอรูปฌาน)
(ปรินิพพานสูตรที่ ๕ พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๑๕/๖๒๐-๖๒๐/๑๙๑-๑๙๒)
*********
*****
นิพพานธาตุ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้ ๒ ประการเป็นไฉน คือ สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑ อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ๑
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็สอุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพนี้สิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ ภิกษุนั้นย่อมเสวยอารมณ์ทั้งที่พึงใจและไม่พึงใจ ยังเสวยสุขและทุกข์อยู่ เพราะความที่อินทรีย์ ๕ เหล่าใดเป็นธรรมชาติไม่บุบสลาย อินทรีย์ ๕ เหล่านั้นของเธอยังตั้งอยู่นั่นเทียว
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความสิ้นไปแห่งราคะ ความสิ้นไปแห่งโทสะ ความสิ้นไปแห่งโมหะ ของภิกษุนั้น นี้เราเรียกว่า สอุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็อนุปาทิเสสนิพพานธาตุเป็นไฉน ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เป็นพระอรหันตขีณาสพ อยู่จบพรหมจรรย์ ทำกิจที่ควรทำเสร็จแล้ว ปลงภาระลงได้แล้ว มีประโยชน์ของตนอันบรรลุแล้ว มีสังโยชน์ในภพสิ้นรอบแล้ว หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบ เวทนาทั้งปวงในอัตภาพนี้แหละของภิกษุนั้นเป็นธรรมชาติอันกิเลสทั้งหลายมีตัณหาเป็นต้นให้เพลิดเพลิน มิได้แล้ว จักเย็น
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นี้เราเรียกว่า อนุปาทิเสสนิพพานธาตุ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย นิพพานธาตุ ๒ ประการนี้แล
(ธาตุสูตร พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๒๕/๒๒๒/๑๙๒)
********
****
นิพพานธาตุ ๒
ดูกรภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนแม่น้ำบางสายในโลกที่ไหลไป ย่อมไปรวมยังมหาสมุทร และสายฝนยังตกลงมาจากอากาศ ความพร่องหรือความเต็มของมหาสมุทรย่อมไม่ปรากฏเพราะเหตุนั้น ภิกษุจำนวนมากก็เหมือนกัน ถ้าแม้ยังปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ ความพร่องหรือความเต็มของนิพพานธาตุย่อมไม่ปรากฏ เพราะเหตุนั้น แม้นี้ก็เป็นความอัศจรรย์
(พระไตรปิฎก ฉบับหลวง ๗/๔๖๑/๑๘๔)
********
****
#สิ่ง #สิ่งหนึ่ง
ภิกษุ ! ในปัญหานั้น คำตอบมีดังนี้:“สิ่ง” สิ่งหนึ่ง
ซึ่งบุคคลพึงรู้แจ้ง
เป็นสิ่งที่ไม่มีปรากฏการณ์ไม่ม­ีที่สุด
แต่มีทางปฏิบัติเข้ามาถึงได้โดย­รอบ,นั้นมีอยู่.
ใน “สิ่ง”นั้นแหละ ดิน น้ำ ไฟ ลม ไม่หยั่งลงได้. ใน “สิ่ง”
นั้นแหละความยาว ความสั้น ความเล็ก ความใหญ่ ความงาม ความไม่งาม
ไม่หยั่งลงได้. ใน “สิ่ง” นั้นแหละ นามรูปย่อมดับสนิท ไม่มีเศษเหลือ.
นามรูป ดับสนิทใน “สิ่ง” นี้ เพราะการดับสนิทของวิญญาณ, ดังนี้”.

บาลี เกวัฏฏสูตร สี. ที. ๙/๒๗๗/๓๔๓.
ตรัสแก่เกวัฏฏะคหบดี ที่ปาวาริกัมพวัน เมืองนาลันทา.
********
*****
#ปัญญาสติ กับ #นามรูปดับ เพราะ #วิญญาณดับ
---
"ข้าแต่พระองค์ผู้นิรทุกข์! ข้าพระองค์กราบทูลถามแล้ว
ขอพระองค์จงตรัสบอกธรรมนั้น คือปัญญาและสติกับนามรูป แก่ข้าพระองค์เถิด;
ปัญญาและสติกับนามรูปนั้นจะดับไปในที่ไหน?
----
ดูก่อนอชิตะ! ท่านถามปัญหานั้นข้อใด เราจะแก้ปัญหา
ข้อนั้นแก่ท่าน : นามและรูป ย่อมดับไม่เหลือในที่ใด,
ปัญญาและสติกับนามรูปนั้น ก็ย่อมดับไปในที่นั้น,
เพราะความดับไปแห่งวิญญาณ แล.
----
- สุตฺต. ขุ. ๒๕/๕๓๐/๔๒๕. - จูฬนิ. ขุ. ๓๐/๒๐-๒๑/๘๐,๗๕

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น