วันอังคารที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พระอาจารย์คึกฤทธิ์-สนทนาธรรมเช้าวันพุธ_หลังฉัน_2015-05-13



**เหตุปัจจัยที่..สาธยายธรรมแล้วจำไม่ได้..เหตุเดียวคือนิวรณ์๕***
(ทำสมาธิมากๆ สาธยายอะไรจะทรงจำได้ดีเอง)
#นิวรณ์เป็นปัจจัยให้มนต์ไม่แจ่มแจ้ง
[๖๐๑] สาวัตถีนิทาน. ครั้งนั้น พราหมณ์ชื่อว่าสคารวะ
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ได้ปราศรัยกับพระผู้มีพระภาค
ครั้นผ่านการปราศรัยพอให้ระลึกถึงกันไปแล้ว
จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า.
-
[๖๐๒] ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้มนต์แม้ที่บุคคลกระทำการสาธยายไว้นาน
ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
อะไรหนอเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน
ก็ยังแจ่มแจ้งในบางคราว
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
-
[๖๐๓] พระผู้มีพระภาคตรัสตอบว่า ดูกรพราหมณ์
สมัยใดแล บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ
อันกามราคะเหนี่ยวรั้งไป
และไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออกซึ่งกามราคะที่บังเกิดแล้ว
ตามความเป็นจริง
-
สมัยนั้น เขาไม่รู้ไม่เห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง
มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน
ก็ไม่แจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
-
[๖๐๔] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
ซึ่งระคนด้วยสีครั่ง สีเหลือง สีเขียว สีแดงอ่อน
บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความ เป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด
-
บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ
อันกามราคะ เหนี่ยวรั้งไป
และไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
-
ในสมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองนั้นตามความเป็นจริง
มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน ก็ไม่แจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
-
[๖๐๕] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ...
-
[๖๐๖] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
ซึ่งร้อนเพราะไฟเดือดพล่าน มีไอพลุ่งขึ้น
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด
บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
อันพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
-
[๖๐๗] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป
ย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ...
-
[๖๐๘] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
อันสาหร่ายและจอกแหนปกคลุมไว้
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
อันถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ...
-
[๖๐๙] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ กุกกุจจะ
อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ...
-
[๖๑๐] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
อันลมพัดต้องแล้ว หวั่นไหว กระเพื่อม เกิดเป็นคลื่น
บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็น
ตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจกุกกุจจะ
อันอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะ
ที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง ...
-
[๖๑๑] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
ในสมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป
และไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง
สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง
มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน
ก็ไม่แจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
-
[๖๑๒] ดูกรพราหมณ์
เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ขุ่นมัวเป็นเปือกตม
อันบุคคลวางไว้ในที่มืด
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
ไม่พึงรู้ ไม่พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
อันวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
สมัยนั้น เขาย่อมไม่รู้ ไม่เห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง
มนต์ที่กระทำการสาธยายไว้นาน
ก็ไม่แจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
-
[๖๑๓] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้มนต์แม้ที่กระทำการสาธยายไว้นาน
ไม่แจ่มแจ้งในบางคราว
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่มิได้กระทำการสาธยาย.
-
[๖๑๔] ดูกรพราหมณ์ ส่วนสมัยใด
บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ
ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้วตามความเป็นจริง
สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง
มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน
ย่อมแจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
-
[๖๑๕] ดูกรพราหมณ์
เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันไม่ระคนด้วยสีครั่ง
สีเหลือง สีเขียว หรือสีแดงอ่อน
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริง ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยกามราคะ
ไม่ถูกกามราคะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งกามราคะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๑๖] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้น
แล้วตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๑๗] ดูกรพราหมณ์
เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำที่ไม่ร้อนเพราะไฟ
ไม่เดือดพล่านไม่เกิดไอ
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยพยาบาท
ไม่ถูกพยาบาทเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งพยาบาทที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๑๘] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๑๙] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
อันสาหร่ายและจอกแหนไม่ปกคลุมไว้
บุรุษผู้มีจักษุ
เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยถีนมิทธะ
ไม่ถูกถีนมิทธะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งถีนมิทธะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๒๐] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ กุกกุจจะ
ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความจริง ฯลฯ
-
[๖๒๑] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำ
อันลมไม่พัดต้องแล้ว ไม่หวั่นไหว ไม่กระเพื่อม ไม่เกิดเป็นคลื่น
บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็น ตามความเป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยอุทธัจจ กุกกุจจะ
ไม่ถูกอุทธัจจกุกกุจจะเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็นอุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งอุทธัจจกุกกุจจะที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๒๒] ดูกรพราหมณ์ อีกประการหนึ่ง
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง ฯลฯ
-
[๖๒๓] ดูกรพราหมณ์ เปรียบเหมือนภาชนะใส่น้ำอันใสสะอาด
ไม่ขุ่นมัว อันบุคคลวางไว้ในที่แจ้ง
บุรุษผู้มีจักษุ เมื่อมองดูเงาหน้าของตนในน้ำนั้น
พึงรู้ พึงเห็นตามความเป็นจริงได้ ฉันใด
ฉันนั้นเหมือนกัน
สมัยใด บุคคลมีใจไม่ฟุ้งซ่านด้วยวิจิกิจฉา
ไม่ถูกวิจิกิจฉาเหนี่ยวรั้งไป
และย่อมรู้ ย่อมเห็น
อุบายเป็นเครื่องสลัดออก
ซึ่งวิจิกิจฉาที่บังเกิดขึ้นแล้ว
ตามความเป็นจริง
-
สมัยนั้น เขาย่อมรู้ ย่อมเห็น
แม้ซึ่งประโยชน์ตนตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์บุคคลอื่นตามความเป็นจริง
แม้ซึ่งประโยชน์ทั้งสองอย่างตามความเป็นจริง
มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน ย่อมแจ่มแจ้งได้
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
-
[๖๒๔] ดูกรพราหมณ์ นี้แลเป็นเหตุ เป็นปัจจัย
ให้มนต์แม้ที่มิได้กระทำการสาธยายเป็นเวลานาน
ก็ยังแจ่มแจ้งได้ในบางคราว
ไม่ต้องกล่าวถึงมนต์ที่กระทำการสาธยาย.
-
[๖๒๕] ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์แม้ทั้ง ๗ นี้
มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม
ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล
คือ วิชชาและวิมุติ
-
โพชฌงค์ ๗ เป็นไฉน?
คือสติสัมโพชฌงค์ ฯลฯ
อุเบกขาสัมโพชฌงค์
-
ดูกรพราหมณ์ โพชฌงค์ ๗ นี้แล
มิใช่เป็นธรรมกั้น มิใช่เป็นธรรมห้าม
ไม่เป็นอุปกิเลสของใจ
อันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อกระทำให้แจ้งซึ่งผล
คือ วิชชา และ วิมุติ.
-
[๖๒๖] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
สคารวพราหมณ์ได้กราบทูล
พระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ
ขอพระโคดมผู้เจริญ
โปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า เป็นอุบาสก
ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต
จำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป.
-
จบ สูตรที่ ๕
สุตตันตปิฎก สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค
หน้าที่ ๑๕๐ ข้อที่ ๖๒๖ - ๖๒๗
-
http://etipitaka.com/read/thai/19/146/…
-

ประมาณนาทีที่ 30.10 https://www.youtube.com/watch?v=m5FJDFx7Z8I

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น