วันจันทร์ที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2559

พุทธวจน faq เหตุใด มโนกรรมจึงอานิสงส์แรงกว่ากายกรรมและวจีกรรม



กรรม ๓ ของนิครณ์นาฏบุตร

พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระพุทธพจน์นี้กะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็น
ไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้ทูลว่าท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตร จะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้ เป็นอาจิณ
หามิได้ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า ทัณฑะๆ ดังนี้แล เป็นอาจิณ.
ดูกรทีฆตปัสสี ก็นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ท่านพระโคดม นิครนถ์นาฏบุตรย่อมบัญญัติทัณฑะในการทำบาปกรรม
ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายทัณฑะ ๑ วจีทัณฑะ ๑ มโนทัณฑะ ๑.
ดูกรทีฆตปัสสี ก็กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง หรือ?
ท่านพระโคดม กายทัณฑะอย่างหนึ่ง วจีทัณฑะอย่างหนึ่ง มโนทัณฑะอย่างหนึ่ง.
ดูกรทีฆตปัสสี ก็บรรดาทัณฑะ ๓ ประการนี้ ที่จำแนกออกแล้ว เป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ ทัณฑะไหน คือ กายทัณฑะ วจีทัณฑะ หรือมโนทัณฑะ ที่นิครนถ์นาฏบุตร บัญญัติว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
ท่านพระโคดม บรรดาทัณฑะทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้
นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติว่า กายทัณฑะมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม จะบัญญัติวจีทัณฑะ มโนทัณฑะ ว่ามีโทษมากเหมือนกายทัณฑะหามิได้.
ดูกรทีฆตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าว่ากายทัณฑะ.
ดูกรทีฆตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.
ดูกรทีฆตปัสสี ท่านกล่าวว่ากายทัณฑะหรือ?
ท่านพระโคดม ข้าพเจ้ากล่าวว่ากายทัณฑะ.    
พระผู้มีพระภาคทรงให้ทีฆตปัสสีนิครนถ์ ยืนยันในเรื่องที่พูดนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้.
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว ทีฆตปัสสีนิครนถ์ได้กราบทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ท่านพระโคดม พระองค์เล่าย่อมบัญญัติทัณฑะ ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรมไว้เท่าไร?
  
ดูกรทีฆตปัสสี ตถาคตจะบัญญัติว่ากรรมๆ ดังนี้เป็นอาจิณ.
ท่านพระโคดม ก็พระองค์ย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม ไว้เท่าไร?
    
ดูกรทีฆตปัสสี เราย่อมบัญญัติกรรม ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่ง
บาปกรรมไว้ ๓ ประการ คือ กายกรรม ๑ วจีกรรม ๑ มโนกรรม ๑.
พระโคดม ก็กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่งมิใช่หรือ?
  
ดูกรทีฆตปัสสี กายกรรมอย่างหนึ่ง วจีกรรมอย่างหนึ่ง มโนกรรมอย่างหนึ่ง.
ท่านพระโคดม ก็บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกัเหล่านี้ กรรมไหน คือ กายกรรม วจีกรรม หรือมโนกรรม ที่พระองค์บัญญัติว่ามีโทษมากกว่าในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม?
ดูกรทีฆตปัสสี บรรดากรรมทั้ง ๓ ประการ ที่จำแนกออกแล้วเป็นส่วนละอย่าง ต่างกันเหล่านี้ เราบัญญัติมโนกรรมว่ามีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไป แห่งบาปกรรม เราจะบัญญัติกายกรรม วจีกรรมว่ามีโทษมาก เหมือน มโนกรรมหามิได้.
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรทีฆตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
ดูกรทีฆตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
ท่านพระโคดม พระองค์ตรัสว่ามโนกรรมหรือ?
  
ดูกรทีฆตปัสสี เรากล่าวว่ามโนกรรม.
    
ทีฆตปัสสีนิครนถ์ให้พระผู้มีพระภาคทรงยืนยันในเรื่องที่ตรัสนี้ถึง ๓ ครั้ง ด้วยประการฉะนี้ แล้วลุกจากอาสนะเข้าไปหานิครนถ์นาฏบุตรถึงที่อยู่.
        
ก็สมัยนั้น นิครนถ์นาฏบุตรนั่งอยู่พร้อมด้วยคิหิบริษัทเป็นอันมาก ผู้มีความเขลา มีอุบาลิ คฤหบดี เป็นประมุข. ได้เห็นทีฆตปัสสีนิครนถ์มาแต่ไกลได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
ดูกรทีฆตปัสสี ดูเถอะ ท่านมาจากไหนแต่ยังวันเทียวหนอ?
ทีฆตปัสสีตอบว่า ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้ามาจากสำนักพระโคดมนี้เอง.
    
นิครนถ์นาฏบุตร ดูกรทีฆตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมเรื่องอะไรบ้างหรือ?
ทีฆตปัสสี ข้าแต่ท่านผู้เจริญ ข้าพเจ้าได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาบ้าง.
    
ดูกรทีฆตปัสสี ก็ท่านได้เจรจาปราศรัยกับพระสมณโคดมมาอย่างไร?
ลำดับนั้นทีฆตปัสสีนิครนถ์บอกเรื่องการเจรจาปราศรัยกับพระผู้มีพระภาคจน หมดสิ้นแก่ นิครนถ์นาฏบุตร. เมื่อทีฆตปัสสีกล่าวอย่างนี้แล้ว นิครนถ์นาฏบุตรได้กล่าวกะทีฆตปัสสีนิครนถ์ว่า
ดูกรทีฆตปัสสี ดีละๆ ข้อที่ทีฆตปัสสีนิครนถ์พยากรณ์แก่พระสมณโคดม ตรงตามที่สาวก ผู้ฟัง ผู้รู้ทั่วถึงคำสอนของศาสดาโดยชอบ มโนทัณฑะอันต่ำทราม จะงามอะไรเล่า เมื่อเทียบกับกายทัณฑะ อันยิ่งใหญ่อย่างนี้ โดยที่แท้ กายทัณฑะเท่านั้นมีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม
พระผู้มีพระภาคทรงย้อนถามปัญหากรรม ๓
        
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญในความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้เป็นคน
อาพาธ มีทุกข์ เป็นไข้หนัก ห้ามน้ำเย็น ดื่มแต่น้ำร้อน เมื่อเขาไม่ได้น้ำเย็นจะต้องตาย
ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติความเกิดของนิครนถ์ผู้นี้ในที่ไหนเล่า?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เทวดาชื่อว่ามโนสัตว์มีอยู่นิครนถ์นั้นย่อมเกิดในเทวดาจำพวกนั้นข้อนั้น เพราะเหตุอะไร ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เพราะนิครนถ์ผู้นั้นเป็นผู้มีใจเกาะเกี่ยวทำกาละ.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจาต่อกัน ของเราทั้งสอง จงเจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้นกายทัณฑะเท่านั้น
มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรมในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษ
มากเหมือนกายทัณฑะไม่.
        
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน นิครนถ์ในโลกนี้พึงเป็นผู้ สำรวมด้วยการสังวรโดยส่วน ๔ คือ ห้ามน้ำทั้งปวง ประกอบด้วยการห้ามบาปทั้งปวง กำจัดบาปด้วยการห้ามบาปทั้งปวง อันการห้ามบาปทั้งปวงถูกต้องแล้ว เมื่อเขาก้าวไป ถอยกลับ ย่อมถึงการฆ่าสัตว์ตัวเล็กๆ เป็นอันมาก
ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติวิบากเช่นไรแก่นิครนถ์ผู้นี้?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรมิได้บัญญัติกรรม อันเป็นไปโดยไม่จงใจว่ามีโทษมากเลย.
    
ดูกรคฤหบดี ก็ถ้าจงใจเล่า?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เป็นกรรมมีโทษมาก.
    
ดูกรคฤหบดี ก็นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนไหน?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นิครนถ์นาฏบุตรบัญญัติเจตนาลงในส่วนมโนทัณฑะ.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้ว จงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสอง จงเจรจา ปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.    
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริง ถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น
มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมาก เหมือนกายทัณฑะไม่.
        
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บ้านนาลันทานี้เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น?
อย่างนั้น พระเจ้าข้า บ้านนาลันทา เป็นบ้านมั่งคั่ง เป็นบ้านเจริญ มีชนมาก มีมนุษย์เกลื่อนกล่น.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนี้เป็นไฉน ในบ้านนาลันทานี้ พึงมีบุรุษ คนหนึ่งเงื้อดาบมา เขาพึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่ง
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน บุรุษนั้นจะสามารถทำสัตว์ เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้อ อันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึ่งได้หรือ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บุรุษ ๑๐ คนก็ดี ๒๐ คนก็ดี ๓๐ คนก็ดี ๔๐ คนก็ดี ๕๐ คนก็ดี
ไม่สามารถจะทำสัตว์เท่าที่มีอยู่ในบ้านนาลันทานี้ ให้เป็นลานเนื้ออันเดียวกัน ให้เป็นกองเนื้ออันเดียวกัน โดยขณะหนึ่ง โดยครู่หนึงได้ พระเจ้าข้า บุรุษผู้ต่ำทรามคนเดียว จะงามอะไรเล่า.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิต พึงมาในบ้านนาลันทานี้ สมณะหรือพราหมณ์นั้น พึงกล่าวอย่างนี้ว่า เราจักทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจคิดประทุษร้ายดวงเดียว
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น จะสามารถทำบ้านนาลันทานี้ให้เป็นเถ้า ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งได้หรือหนอ?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ บ้านนาลันทา ๑๐ บ้านก็ดี ๒๐ บ้านก็ดี ๓๐ บ้านก็ดี ๔๐ บ้านก็ดี ๕๐ บ้านก็ดี สมณะหรือพราหมณ์ผู้มีฤทธิ์ ถึงความเป็นผู้ชำนาญในทางจิตนั้น สามารถจะทำให้เป็นเถ้าได้ ด้วยใจประทุษร้ายดวงหนึ่งบ้านนาลันทาอันต่ำทรามบ้านเดียวจะงามอะไรเล่า.
ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านกล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจงเจรจา ปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.  
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ พระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้ก็จริงถึงอย่างนั้น กายทัณฑะเท่านั้น มีโทษมากกว่า ในการทำบาปกรรม ในการเป็นไปแห่งบาปกรรม วจีทัณฑะ มโนทัณฑะ หามีโทษมาก เหมือนกายทัณฑะไม่.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาแล้วหรือ?
อย่างนั้น พระองค์ผู้เจริญ ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป
ข้าพเจ้าได้ฟังมาแล้ว.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ
ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไป ท่านได้ฟังมาว่าอย่างไร เกิดเป็นป่าไปเพราะเหตุอะไร?
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้ฟังมาว่า ป่าทัณฑกี ป่ากาลิงคะ ป่าเมชฌะ ป่ามาตังคะ เกิดเป็นป่าไปนั้น เพราะใจประทุษร้าย อันพวกเทวดาทำเพื่อฤาษี.
    
ดูกรคฤหบดี ท่านจงมนสิการ ครั้นแล้วจงพยากรณ์ คำหลังกับคำก่อนก็ดี คำก่อนกับคำหลังก็ดี ของท่าน ไม่ต่อกันเลย ดูกรคฤหบดี ก็ท่านได้กล่าวคำนี้ไว้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพเจ้าจะมั่นอยู่ในคำสัตย์เจรจากัน ขอเราทั้งสองจง เจรจาปราศรัยกันในเรื่องนี้เถิด.
(ภาษาไทย) ม.ม.๑๓/๔๖-๕๒/๖๓-๗๐

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น