วันพุธที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2558

พระอาจารย์คึกฤทธิ์-สนทนาธรรมเช้าวันเสาร์_หลังฉัน_2015-05-09



‪#‎ธรรมเครื่องกลับใจ‬
**กาลามสูตร***
บทสรุปท้ายพระสูตร
-(ทำไปแล้วกุศลเจริญหรืออกุศลเจริญ โดยการใช้ศีล๕ สี่ข้อแรกเป็นเกน)
ศีล๕ ..๔ ข้อแรก จัดเป็นอกุศล..สำหรับใช้วัดสอบ.กาลามสูตร
ประมาณ นาทีที่ 42.20 https://www.youtube.com/watch?v=IMKusky0zyM
---
[๑๙๓] สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ กูฏาคารศาลาป่ามหาวัน
ใกล้เมืองเวสาลี ครั้งนั้นแล ภัททิยลิจฉวี
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายอภิวาทแล้ว นั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้วได้ทูลถามพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ได้สดับมาดังนี้ว่า
-
พระสมณโคดมทรงมีมายา
ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจ
สาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ
พวกเขาเหล่านั้นพากันกล่าวอย่างนี้ว่า
พระสมณโคดมทรงมีมายา
ย่อมทรงรู้มายาเครื่องกลับใจ
สาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
คนเหล่านั้นเป็นอันกล่าวตามที่พระผู้มีพระภาคตรัสแลหรือ
ไม่ได้กล่าวตู่พระผู้มีพระภาคด้วยคำไม่เป็นจริง
ย่อมพยากรณ์ธรรมสมควรแก่ธรรม
และการคล้อยตาม วาทะอันชอบแก่เหตุไรๆ
ย่อมไม่มาถึงฐานะอันควรติเตียนแลหรือแท้จริง
ข้าพระองค์ไม่ประสงค์จะกล่าวตู่พระผู้มีพระภาคเลย
-
พระผู้มีพระภาคตรัสว่า ดูกรภัททิยะ
ท่านจงมาเถิด ท่านทั้งหลาย
-
อย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา
อย่าได้ถือโดยสืบต่อกันมา
อย่าได้ถือโดยตื่นข่าว
อย่าได้ถือโดยอ้างตำรา
อย่าได้ถือโดยนึกเดาเอาเอง
อย่าได้ถือโดยคาดคะเน
อย่าได้ถือโดยตรึกตามอาการ
อย่าได้ถือโดยชอบใจว่าถูกกับลัทธิของตน
อย่าได้ถือโดยเห็นว่าผู้พูดเป็นคนควรเชื่อได้
อย่าได้ถือโดยเชื่อ ว่าสมณะเป็นครูของเรา
-
ดูกรภัททิยะ เมื่อใด
ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่า
ธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล
ธรรมเหล่านี้มีโทษ
ธรรมเหล่า นี้อันวิญญูชนติเตียน
ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไป เพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อทุกข์
-
เมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายพึงละเสียเถิด
-
ดูกรภัททิยะ ท่านจะพึงสำคัญความความข้อนั้นเป็นไฉน
-
ความโลภเมื่อเกิดขึ้นภายในบุคคล
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ
ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้โลภมาก
ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต
-
ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้
ลักทรัพย์ก็ได้
คบชู้ก็ได้
พูดเท็จก็ได้
-
ย่อมชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้
ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ ฯ
ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
โทสะ ... โมหะ ...การแข่งดี
เมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ
ภัท. เพื่อมิใช่ประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ
บุคคลผู้แข่งดี ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต
-
ย่อมฆ่าสัตว์ก็ได้
ลักทรัพย์ก็ได้
คบชู้ก็ได้
พูดเท็จก็ได้
-
ชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้นก็ได้
ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์
เพื่อทุกข์ตลอดกาลนานหรือ ฯ
ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ฯ
ภัท. เป็นอกุศล พระเจ้าข้า ฯ
พ. มีโทษหรือไม่มีโทษ
ภัท. มีโทษ พระเจ้าข้า ฯ
พ. วิญญูชนติเตียนหรือวิญญูชนสรรเสริญ ฯ
ภัท. วิญญูชนติเตียน พระเจ้าข้า ฯ
พ. บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
เป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์
หรือมิใช่หรือว่าท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ
-
ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อมิใช่ประโยชน์ เพื่อทุกข์
ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า ท่านทั้งหลาย
-
อย่าถือโดยฟังตามกันมา...เมื่อใด
-
ท่านพึงรู้ได้ด้วยตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล...
ท่านทั้งหลายควรละเสียเถิด ดังนี้
-
คำนั้น
เรากล่าวเพราะอาศัยข้อนี้
ดูกรภัททิยะ ท่านทั้งหลาย
-
อย่าได้ถือโดยฟังตามกันมา...เมื่อใด
-
ท่านทั้งหลายพึงรู้ได้ด้วยตนเอง
ว่าธรรมเหล่านี้เป็นกุศลธรรมเหล่านี้ไม่มีโทษ
ธรรมเหล่านี้วิญญูชนสรรเสริญ
ธรรมเหล่านี้บุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์ เพื่อสุข
เมื่อนั้น
ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิด
-
ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่โลภเมื่อเกิดขึ้นในภายในของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์ ฯ
ภัท. เพื่อประโยชน์ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ
ก็บุคคลผู้ไม่โลภนี้
ไม่ถูกความโลภครอบงำย่ำยีจิต
-
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์
ไม่ลักทรัพย์
ไม่คบชู้
ไม่พูดเท็จ
-
และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อ
ประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ฯ
ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ความไม่โกรธ...ความไม่หลง...ความไม่แข่งดี
เกิดขึ้นในภายในของบุรุษ
ย่อมเกิดขึ้นเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
หรือเพื่อมิใช่ประโยชน์เกื้อกูล ฯ
ภัท. เพื่อประโยชน์เกื้อกูล พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ก็บุคคลผู้ไม่แข่งดีนี้
ไม่ถูกความแข่งดีครอบงำย่ำยีจิต
-
ย่อมไม่ฆ่าสัตว์
ไม่ลักทรัพย์
ไม่คบชู้
ไม่พูดเท็จ
-
และชักชวนผู้อื่นเพื่อความเป็นอย่างนั้น
ข้อนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุขตลอดกาลนานหรือ ฯ
-
ภัท. อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ ท่านจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน
ธรรมเหล่านี้เป็นกุศล หรือเป็นอกุศล ฯ
ภัท. เป็นกุศล พระเจ้าข้า ฯ
พ. มีโทษหรือหาโทษมิได้ ฯ
ภัท. หาโทษมิได้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. วิญญูชนติเตียนหรือสรรเสริญ ฯ
ภัท. วิญญูชนสรรเสริญ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุขหรือมิใช่ หรือท่านมีความเห็นอย่างไรในข้อนี้ ฯ
-
ภัท. ธรรมเหล่านี้อันบุคคลสมาทานให้บริบูรณ์แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
ข้าพระองค์มีความเห็นอย่างนี้ในข้อนี้ พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ เราได้กล่าวคำใดกะท่านว่า
ท่านทั้งหลายจงมาเถิด ท่านทั้งหลาย
-
อย่าได้ถือฟังตามกันมา...
-
ท่านทั้งหลายพึงเข้าถึงธรรมเหล่านั้นอยู่เถิดดังนี้
คำนั้นเรากล่าวแล้วเพราะอาศัยข้อนี้
ดูกรภัททิยะ คนเหล่าใดเป็นคนสงบ
เป็นสัตบุรุษคนเหล่านั้นย่อมชักชวนสาวกอย่างนี้
ว่า บุรุษผู้เจริญ ท่านจงมา จงปราบปรามความโลภเสียเถิด
เมื่อปราบปรามความโลภได้
จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโลภด้วยกายวาจาใจ
จงปราบปรามความโกรธเสียเถิด
เมื่อท่านปราบปรามความโกรธได้
จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความโกรธด้วยกาย วาจา ใจ
จงปราบปรามความหลงเสียเถิด
เมื่อปราบปรามความหลงได้
จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความหลงด้วยกาย วาจา ใจ
จงปราบปรามความแข่งดีเสียเถิด
เมื่อปราบปรามความแข่งดีได้
จักไม่กระทำกรรมอันเกิดแต่ความแข่งดีด้วยกาย วาจา ใจ ฯ
-
เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
ภัททิยลิจฉวีได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก ฯลฯ
ขอพระผู้มีพระภาคโปรดทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสก ผู้ถึงสรณะตลอดชีวิต ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
-
พ. ดูกรภัททิยะ ก็เราได้กล่าวชักชวนท่านอย่างนี้ว่า
ดูกรภัททิยะ ขอท่านจงมาเป็นสาวกของเราเถิด
เราจักเป็นศาสดาของท่าน ดังนี้หรือ ฯ
ภัท. มิใช่เช่นนั้น พระเจ้าข้า ฯ
พ. ดูกรภัททิยะ
สมณพราหมณ์พวกหนึ่งกล่าวตู่เราผู้มีปรกติกล่าวอย่างนี้
มีปรกติบอกอย่างนี้
ด้วยคำอันไม่แน่นอน เป็นคำเปล่า คำเท็จ คำไม่จริง
ว่าพระสมณโคดมมีมายา รู้จักมายา
เครื่องกลับใจสาวกของพวกอัญญเดียรถีย์ให้มานับถือ ฯ
-
ภัท. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ
มายาเครื่องกลับใจนี้ดีนัก งามนัก
ถ้าญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์
พึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้
ข้อนั้นจะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุข แก่บรรดาญาติสาโลหิตอันเป็นที่รักของข้าพระองค์
ตลอดกาลนาน
ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงจะพึงกลับใจ
มาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้
ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อเกื้อกูล
เพื่อสุขแก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน
ถ้าพราหมณ์ทั้งปวง...แพศย์...ศูทร์ทั้งปวง
จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเป็นเครื่องกลับใจชนิดนี้
ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลเพื่อสุข
แก่ศูทร์แม้ทั้งปวงตลอดกาลนาน ฯ
ดูกรภัททิยะ คำที่ท่านกล่าวนี้เป็นอย่างนั้นๆ
ถ้าแม้กษัตริย์ทั้งปวงพึงทรงกลับใจ
-
มาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม
ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุข แก่กษัตริย์ทั้งปวงตลอดกาลนาน
ถ้าแม้พราหมณ์...แพศย์...ศูทร์พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม
บำเพ็ญกุศลธรรม ข้อนั้นก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
แก่ศูทร์ทั้งปวงตลอดกาลนาน ถ้าแม้โลก
พร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์ เทวดาและมนุษย์
พึงกลับใจมาเพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม
ข้อนั้นก็พึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล เพื่อสุข
แก่โลกพร้อมทั้งเทวโลก มารโลก พรหมโลก
แก่หมู่สัตว์พร้อมทั้งสมณพราหมณ์
เทวดาและมนุษย์
ตลอดกาลนาน
-
ดูกรภัททิยะถ้าแม้พวกมหาศาลเหล่านี้
จะพึงกลับใจมาด้วยมายาเครื่องกลับใจนี้
เพื่อละอกุศลธรรม บำเพ็ญกุศลธรรม
ข้อนั้นก็จะพึงเป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูล
เพื่อสุข แก่พวกมหาศาลเหล่านี้ตลอดกาลนาน
ถ้ามหาศาลเหล่านี้พึงตั้งใจ
จะป่วยกล่าวไปไยถึงผู้ที่เป็นมนุษย์เล่า ฯ
พระไตรปิฎก ไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๑
สุตตันตปิฎก อังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต
หน้าที่ ๑๘๒ ข้อที่ ๑๙๓
-
http://etipitaka.com/read/thai/21/182/…

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น