วันจันทร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

สัตบุรุษ(คนดี) ให้-รับของด้วยมือของตน


อุบาสิกา สามารถถวาย หรือ รับมอบ สิ่งของกับภิกขุ..แบบมือต่อมือได้ พระพุทธองค์มิได้บัญญัติห้าม ตรงกันข้าม..พระองค์ตรัสว่า "สัตบุรุษ(คนดี) ให้-รับ(ของ)ด้วยมือของตน"
แต่การที่ภิกขุใช้ผ้ารองรับแทนมือก็ไม่ได้ผิดนะครับ ทำได้เหมือนกัน ตามความจำเป็น (เช่น เอื้อมไม่ถึง หรือของหนัก) แต่ให้ทราบไว้ด้วยว่า การให้-รับด้วยมือนั้นไม่ผิด สามารถทำได้.

_____www.watnapp.com_____________________

การรับประเคนที่ใช้ได้
ดูกรอุบาลี การรับประเคนที่ใช้ได้นี้ มี ๕ อย่าง. ๕ อย่างอะไรบ้าง? คือ: 
๑. ของเขาให้ด้วยกาย รับประเคนด้วยกาย
๒. ของเขาให้ด้วยกาย รับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกาย
๓. ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย รับประเคนด้วยกาย
๔. ของเขาให้ด้วยของเนื่องด้วยกาย รับประเคนด้วยของเนื่องด้วยกาย
๕. ของเขาให้ด้วยโยนให้ รับประเคนด้วยกาย หรือด้วยของเนื่องด้วยกาย
 
ดูกรอุบาลี การรับประเคนที่ใช้ได้ ๕ อย่าง นี้แล.
(ภาษาไทย) ปริวาร.วิ.  ๘/๔๒๓/๑๑๗๓.
***************************

๘. สัปปุริสทานสูตร [๑๔๘] ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้ ๕ ประการเป็นไฉน คือ
สัตบุรุษย่อมให้ทานด้วยศรัทธา ๑ 
ย่อมให้ทานโดยเคารพ ๑ 
ย่อมให้ทานโดยกาลอันควร ๑ 
เป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทาน ๑ 
ย่อมให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่น ๑ 

ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัตบุรุษครั้นให้ทานด้วยศรัทธาแล้ว 
ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง 
มีทรัพย์มาก 
มีโภคะมาก 
และเป็นผู้มีรูปสวยงาม 
น่าดู น่าเลื่อมใส
ประกอบด้วยผิวพรรณงามยิ่งนัก 
ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล (บังเกิดขึ้น) 
ครั้นให้ทานโดยเคารพแล้ว 

ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง 
มีทรัพย์มาก 
มีโภคะมาก 
และเป็นผู้มีบุตรภรรยา 
ทาส คนใช้หรือคนงาน 
เป็นผู้เชื่อฟัง 
เงี่ยโสตลงสดับคำสั่ง 
ตั้งใจใคร่รู้ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล 
ครั้นให้ทานโดยกาลอันควรแล้ว 
ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง 
มีทรัพย์มาก 
มีโภคะมาก 
และย่อมเป็นผู้มีความต้องการที่เกิดขึ้นตามกาลบริบูรณ์ 
ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล 
ครั้นเป็นผู้มีจิตอนุเคราะห์ให้ทานแล้ว ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง 
มีทรัพย์มาก 
มีโภคะมาก 
และเป็นผู้มีจิตน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ สูงยิ่งขึ้น

ในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล 
ครั้นให้ทานไม่กระทบตนและผู้อื่นแล้ว 

ย่อมเป็นผู้มั่งคั่ง 
มีทรัพย์มาก มีโภคะมาก 

และย่อมเป็นผู้มีโภคทรัพย์ไม่มีภยันตรายมาแต่ที่ไหนๆคือ 
จากไฟ 
จากน้ำ 
จากพระราชา 
จากโจร 
จากคนไม่เป็นที่รัก 
หรือจากทายาทในที่ที่ทานนั้นเผล็ดผล 
ดูกรภิกษุทั้งหลาย สัปปุริสทาน ๕ ประการนี้แล ฯ

พระไตรปิฎก ภาษาไทย (ฉบับหลวง) เล่มที่ ๒๒

พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๔ อังคุตตรนิกาย ปัญจก-ฉักกนิบาต

หน้าที่ ๑๕๕/๔๐๗ข้อที่ ๑๔๗-๑๔๘


http://etipitaka.com/read?keywords=%E0%B9%83%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD&language=thai&number=155&volume=22#

ฟังพุทธวจน บรรยายได้ที่ www.watnapp.com
*****************************************************
**ผลแห่งทาน**
คหบดี ! บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยไม่เคารพ ไม่ทำความนอบน้อมให้ ไม่ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่เหลือ ไม่เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมไม่น้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้นคือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็ไม่เชื่อฟัง ไม่เงี่ยหูฟัง ส่งจิตไปที่อื่นเสีย.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ทั้งนี้เป็นเพราะ ผลแห่งกรรมที่ตนกระทำโดยไม่เคารพ.
คหบดี ! บุคคลให้ทานอันเศร้าหมองหรือประณีตก็ตาม แต่ให้ทานนั้นโดยเคารพ ทำความนอบน้อมให้ ให้ด้วยมือตนเอง ให้ของที่ไม่เหลือ เชื่อกรรมและผลของกรรม ให้ทาน ทานนั้นๆ บังเกิดผลในตระกูลใดๆ ในตระกูลนั้นๆ จิตของผู้ให้ทานย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคอาหารอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคผ้าอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคยานอย่างดี ย่อมน้อมไปเพื่อบริโภคกามคุณ ๕ อย่างดี แม้บริวารชนของผู้ให้ทานนั้น คือ บุตร ภรรยา ทาส คนใช้ คนทำงาน ก็เชื่อฟังดี เงี่ยหูฟัง ไม่ส่งจิตไปที่อื่น.
ข้อนั้นเพราะเหตุไร ? ทั้งนี้เป็นเพราะผลของกรรมที่ตนกระทำโดยเคารพ.
...ฯลฯ...
ฆราวาสชั้นเลิศ หน้า ๑๒๔

(ภาษาไทย) นวก. อํ. ๒๓/๓๑๖/๒๒๔.
**************************************************
สุปปวาสสูตร
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในนิคมของโกลิยราชสกุล ชื่อปัชชเนละ แคว้นโกฬิยะ ครั้งนั้นแล เวลาเช้า พระผู้มีพระภาคทรงนุ่งแล้วทรงถือบาตรและจีวรเสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของโกลิยธิดาชื่อสุปปวาสา ครั้นแล้วประทับนั่งบนอาสนะที่ปูลาดไว้ ครั้งนั้นแล โกลิยธิดา ชื่อสุปปวาสา ได้อังคาสพระผู้มีพระภาคด้วยของเคี้ยวของฉันอันประณีต ด้วยมือของตน ให้อิ่มหนำเพียงพอแล้ว ได้เห็นพระผู้มีพระภาคเสวยเสร็จ นำพระหัตถ์ออกจากบาตรแล้ว จึงนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง ครั้นแล้ว พระผู้มีพระภาคได้ตรัสว่า
ดูกรนางสุปปวาสา อริยสาวิกาผู้ให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ แก่ปฏิคาหก ฐานะ ๔ เป็นไฉนคือ ให้อายุ วรรณะ สุขะ พละ ครั้นให้อายุแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งอายุอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้วรรณะแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งวรรณะอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้สุขแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสุขะ อันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ครั้นให้พละแล้ว ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งพละอันเป็นทิพย์หรือเป็นของมนุษย์ ดูกรนางสุปปวาสา อริยสาวิกา เมื่อให้โภชนะ ชื่อว่าย่อมให้ฐานะ ๔ ประการนี้แก่ปฏิคาหก ฯ
(ภาษาไทย) จตุกฺก. อํ. ๒๑/๖๑/๕๗