วันจันทร์ที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2558
สนทนาธรรมหลังฉันท์เช้าวันอังคารที่ 21 กรกฏาคม 2558
หลังฉันวัดนาป่าพง วันนี้.. วันที่ 21 ก.ค.58
#พระอรหันต์ เรียกภิกขุทั้งหลายว่า คนถ่อย
(หมดกิเลสแล้ว แต่เหตุปัจจัย ก็คือ ของเก่าติดมานานละไม่ได้)
#ลักษณะของคนถ่อย
https://www.youtube.com/watch?v=152V6hrSJbI
๖. ปิลินทวัจฉสูตร
[๗๘] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่
ณ พระวิหารเวฬุวันกลันทกนิวาปสถาน
ใกล้พระนครราชคฤห์ ก็สมัยนั้นแล
ท่านพระปิลินทวัจฉะ
ย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย
ครั้งนั้นแล ภิกษุมากด้วยกัน เข้าไปเฝ้า
พระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วนั่งอยู่ ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
ครั้นแล้ว ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ท่านพระปิลินทวัจฉะ
ย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัส
เรียกภิกษุรูปหนึ่งว่า ดูกรภิกษุ
เธอจงไปเรียกปิลินทวัจฉภิกษุ
มาตามคำของเราว่าดูกรอาวุโสวัจฉะ
พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ภิกษุนั้นทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
เข้าไปหาท่านพระปิลินทวัจฉะถึงที่อยู่
ครั้นแล้วได้กล่าวกะท่านปิลินทวัจฉะว่า
ดูกรอาวุโส พระศาสดารับสั่งให้หาท่าน
ท่านพระปิลินทวัจฉะรับคำภิกษุนั้นแล้ว
เข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคถึงที่ประทับ
ถวายบังคมแล้วนั่ง ณ ที่ควรส่วนข้างหนึ่ง
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามท่านพระปิลินทวัจฉะว่า
ดูกรปิลินทวัจฉะได้ยินว่าเธอย่อมร้องเรียกภิกษุทั้งหลาย
ด้วยวาทะว่าคนถ่อยจริงหรือ
ท่านพระปิลินทวัจฉะ
ทูลรับว่า อย่างนั้น พระเจ้าข้า ฯ
-
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงมนสิการ
ถึงขันธ์อันมีในก่อนของท่านพระปิลินทวัจฉะ
แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย
เธอทั้งหลายอย่ายกโทษวัจฉภิกษุเลย
วัจฉภิกษุย่อมไม่มุ่งโทษ
เรียกภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่า คนถ่อย
วัจฉภิกษุเกิดในสกุลพราหมณ์ ๕๐๐ ชาติ
โดยไม่เจือปนเลย
วาทะว่าคนถ่อยนั้น
วัจฉภิกษุประพฤติมานาน
เพราะเหตุนั้น วัจฉภิกษุนี้ย่อมร้องเรียก
ภิกษุทั้งหลายด้วยวาทะว่าคนถ่อย ฯ
-
ลำดับนั้นแล พระผู้มีพระภาคทรงทราบเนื้อความนี้แล้ว
ได้ทรงเปล่งอุทานนี้ในเวลานั้นว่า
-
มายา มานะ
ย่อมไม่เป็นไปในผู้ใด
ผู้ใดมีความโลภสิ้นไปแล้ว
ไม่มีความยึดถือว่าเป็นของเรา
ไม่มีความหวัง
บรรเทาความโกรธได้แล้ว
มีจิตเย็นแล้ว
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นพราหมณ์
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นสมณะ
ผู้นั้นชื่อว่าเป็นภิกษุ ฯ
จบสูตรที่ ๖
-
พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๕ บรรทัดที่ ๒๒๗๘ - ๒๓๐๖.
หน้าที่ ๙๙ - ๑๐๐.
--
#ลักษณะของคนถ่อย
[๓๐๕] ข้าพเจ้าได้สดับมาแล้วอย่างนี้
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน
อารามของท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี ใกล้พระนครสาวัตถี
ครั้งนั้นแล เป็นเวลาเช้า
พระผู้มีพระภาคทรงครองอันตรวาสกแล้ว
ทรงถือบาตรและจีวร
เสด็จเข้าไปบิณฑบาตยังพระนครสาวัตถี
ก็สมัยนั้นแล
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ก่อไฟแล้ว
ตกแต่งของที่ควรบูชา
อยู่ในนิเวศน์ ลำดับนั้นแล
พระผู้มีพระภาคเสด็จเที่ยวบิณฑบาต
ตามลำดับตรอกในพระนครสาวัตถี
เสด็จเข้าไปยังนิเวศน์ของอัคคิกภารทวาชพราหมณ์
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ได้เห็น
พระผู้มีพระภาคเสด็จมาแต่ไกลทีเดียว
ครั้นแล้วได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
-----
"หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนโล้น
หยุดอยู่ที่นั่นแหละสมณะ
หยุดอยู่ที่นั่นแหละคนถ่อย ฯ"
เมื่ออัคคิกภารทวาชพราหมณ์กราบทูลอย่างนี้แล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสถามว่า
-------
"ดูกรพราหมณ์ ก็ท่านรู้จักคนถ่อย
หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยหรือ ฯ"
------
อ. ท่านพระโคดม ข้าพเจ้าไม่รู้จักคนถ่อย
หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยดีละ
ขอท่านพระโคดมจงแสดงธรรม
ตามที่ข้าพเจ้าจะพึงรู้จักคนถ่อย
หรือธรรมเป็นเครื่องกระทำให้เป็นคนถ่อยเถิด ฯ
------
พ. ดูกรพราหมณ์ ถ้าอย่างนั้น
ท่านจงฟัง จงใส่ใจให้ดี เราจักกล่าว
-----
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์ทูลรับพระผู้มีพระภาคแล้ว
พระผู้มีพระภาคได้ตรัสพระคาถาประพันธ์นี้ว่า
------
[๓๐๖]
๑. คนมักโกรธ ผูกโกรธ ลบหลู่อย่างเลว
มีทิฐิวิบัติ และมีมายา พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย
๒. คนผู้เบียดเบียนสัตว์ที่เกิดหนเดียว
แม้หรือเกิดสองหนไม่มี
ความเอ็นดูในสัตว์ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๓. คนเบียดเบียน เที่ยวปล้น
มีชื่อเสียงว่า ฆ่าชาวบ้านและชาว
นิคม พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๔. คนลักทรัพย์ที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ได้อนุญาตให้
ในบ้านหรือในป่า
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๕. คนที่กู้หนี้มาใช้แล้วกล่าวว่า
หาได้เป็นหนี้ท่านไม่ หนีไปเสีย
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๖. คนฆ่าคนเดินทาง ชิงเอาสิ่งของ
เพราะอยากได้สิ่งของ
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๗. คนถูกเขาถามเป็นพยาน แล้วกล่าวคำเท็จ
เพราะเหตุแห่งตนก็ดี
เพราะเหตุแห่งผู้อื่นก็ดี
เพราะเหตุแห่งทรัพย์ก็ดี
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๘. คนผู้ประพฤติล่วงเกิน ในภริยาขอ
งญาติก็ตาม ของเพื่อนก็ตาม
ด้วยข่มขืนหรือด้วยการร่วมรักกัน
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๙. คนผู้สามารถ แต่ไม่เลี้ยงมารดาหรือบิดา
ผู้แก่เฒ่าผ่านวัยหนุ่มสาว
ไปแล้ว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๐. คนผู้ทุบตีด่าว่ามารดาบิดา พี่ชายพี่สาว
พ่อตาแม่ยายแม่ผัวหรือ
พ่อผัว พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๑. คนผู้ถูกถามถึงประโยชน์
บอกสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์พูดกลบ
เกลื่อนเสีย พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๒. คนทำกรรมชั่วแล้ว ปรารถนาว่าใครอย่าพึงรู้เรา
ปกปิดไว้
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๓. คนผู้ไปสู่สกุลอื่นแล้ว
และบริโภคโภชนะที่สะอาดย่อมไม่ตอบ
แทนเขาผู้มาสู่สกุลของตน พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๔. คนผู้ลวงสมณะ พราหมณ์
หรือแม้วณิพกอื่น ด้วยมุสาวาท
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๕. เมื่อเวลาบริโภคอาหาร
คนผู้ด่าสมณะหรือพราหมณ์และไม่ให้
โภชนะ พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๖. คนในโลกนี้ ผู้อันโมหะครอบงำแล้ว
ปรารถนาของเล็กน้อย
พูดอวดสิ่งที่ไม่มี พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๗. คนเลวทราม ยกตนและดูหมิ่นผู้อื่น
ด้วยมานะของตน
พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๘. คนฉุนเฉียว กระด้าง มีความปรารถนาลามก
มีความตระหนี่ โอ้อวด ไม่ละอาย
ไม่สะดุ้งกลัวพึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๑๙. คนติเตียนพระพุทธเจ้า
หรือติเตียนบรรพชิต หรือคฤหัสถ์สาวก
ของพระพุทธเจ้า พึงรู้ว่าเป็นคนถ่อย ฯ
๒๐. ผู้ใดแลไม่เป็นพระอรหันต์
แต่ปฏิญาณว่าเป็นพระอรหันต์ ผู้นั้น
แลเป็นคนถ่อยต่ำช้า เป็นโจรในโลกพร้อมทั้งพรหมโลก
คนเหล่าใด
------
เราประกาศแก่ท่านแล้วคนเหล่านั้นนั่นแล
เรากล่าวว่าเป็นคนถ่อย ฯ
บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ
ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม
เป็นพราหมณ์เพราะกรรม
-----
ท่านจงรู้ข้อนั้น ตามที่เราแสดงนี้
บุตรของคนจัณฑาลเลี้ยงตัวเองได้ ปรากฏชื่อว่าตังมาคะ
เป็นคนกินของที่ตนให้สุกเอง
เขาได้ยศอย่างสูงที่ได้แสนยาก
กษัตริย์และพราหมณ์เป็นอันมากได้มาสู่ที่บำรุงของเขา
เขาขึ้นยานอันประเสริฐ
ไปสู่หนทางใหญ่อันไม่มีฝุ่น
เขาสำรอกกามราคะเสียได้แล้ว
เป็นผู้เข้าถึงพรหมโลก
ชาติไม่ได้ห้ามเขาให้เข้าถึงพรหมโลก
พราหมณ์เกิดในสกุลผู้สาธยายมนต์ เป็นพวกร่ายมนต์
แต่พวกเขาปรากฏในบาปกรรมอยู่เนืองๆ
พึงถูกติเตียนในปัจจุบันทีเดียว
และภพหน้าก็เป็นทุคติ
ชาติห้ามกันพวกเขาจากทุคติ
หรือจากครหาไม่ได้
บุคคลไม่เป็นคนถ่อยเพราะชาติ
ไม่เป็นพราหมณ์เพราะชาติ
แต่เป็นคนถ่อยเพราะกรรม
เป็นพราหมณ์เพราะกรรม ฯ
------
[๓๐๗] เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสอย่างนี้แล้ว
อัคคิกภารทวาชพราหมณ์
ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคว่า
ข้าแต่พระโคดมผู้เจริญ
ภาษิตของพระองค์แจ่มแจ้งนัก
พระองค์ทรงประกาศธรรม
โดยอเนกปริยาย
เปรียบเหมือนหงายของที่คว่ำ
เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง
หรือตามประทีปไว้ในที่มืด
ด้วยหวังว่า คนมีจักษุจักเห็นรูปได้ ฉะนั้น
------
ข้าพระองค์ขอถึงพระองค์กับทั้งพระธรรม
และพระภิกษุสงฆ์เป็นสรณะ
ขอพระองค์ทรงจำข้าพระองค์ว่า
เป็นอุบาสกผู้ถึงสรณะตลอดชีวิตจำเดิมแต่วันนี้เป็นต้นไป ฯ
---
จบวสลสูตรที่ ๗
-----
พระไตรปิฎก ฉบับบาลีสยามรัฐ (ภาษาไทย) เล่มที่ ๒๕
พระสุตตันตปิฎก เล่มที่ ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ-ธรรมบท-อุทาน-
อิติวุตตกะ-สุตตนิบาต หน้าที่ ๒๗๒
สมัครสมาชิก:
ส่งความคิดเห็น (Atom)
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น