วันพุธที่ 29 กรกฎาคม พ.ศ. 2558

mobile20140225C ..#กาย #เวทนา #จิต #ธรรม #รู้ลมหายใจเข้าออก...สู่วิมุตติ



#กาย  #เวทนา  #จิต  #ธรรม #รู้ลมหายใจเข้าออก...สู่วิมุตติ
--

‪#‎สติปัฏฐาน๔‬
ภิกษุทั้งหลาย ! อานาปานสติ 
อันบุคคลเจริญแล้วอย่างไรทำให้มากแล้วอย่างไร 
จึงทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ได้ ?
------------------------ 
‪#‎หมวดกายานุปัสสนา‬
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด 
ภิกษุเมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้ายาว, 
เมื่อหายใจ ออกยาว ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกยาว; 
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจเข้าสั้น, 
เมื่อหายใจ ออกสั้น ก็รู้ชัดว่าเราหายใจออกสั้น;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า 
เป็นผู้เห็นกายในกายอยู่เป็นประจำ 
มีความเพียรเผากิเลส 
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าว 
ลมหายใจเข้าและลมหายใจออก 
ว่าเป็นกายอันหนึ่ง ๆ ในกายทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ 
ภิกษุนั้นย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นกายในกาย อยู่เป็นประจำ 
มีความเพียรเผากิเลส 
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก 
ออกเสียได้ ในสมัยนั้น.
---------------------------
‪#‎หมวดเวทนานุปัสสนา‬
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า 
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจเข้า”, ว่า 
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ หายใจออก”
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับ หายใจออก”;
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนาทั้งหลาย
อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส 
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! เราย่อมกล่าวการทำในใจเป็นอย่างดีต่อลมหายใจเข้าและ ลมหายใจออก ทั้งหลายว่า 
เป็นเวทนาอันหนึ่งๆ ในเวทนาทั้งหลาย.
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้น ในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น 
ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นเวทนาในเวทนา 
ทั้งหลายอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัส ในโลกออกเสียได้ ในสมัยนั้น.
----------------------------
‪#‎หมวดจิตตานุปัสสนา‬
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใด ภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า 
“เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่ง หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่น หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ หายใจออก”;
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า 
เป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส 
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
-------------
ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่กล่าวอานาปานสติ 
ว่าเป็นสิ่งที่มีได้แก่บุคคลผู้มีสติอันลืมหลงแล้ว 
ไม่มีสัมปชัญญะ.
-----------
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น 
ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นจิตในจิตอยู่เป็นประจำ 
มีความเพียรเผากิเลส 
มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้ 
ในสมัยนั้น.
----------------
‪#‎หมวดธัมมานุปัสสนา‬
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยใดภิกษุย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า 
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยง อยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ 
หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ
หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
ย่อมทำการฝึกหัดศึกษาว่า 
“เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจเข้า”, 
ว่า “เราเป็นผู้เห็นซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ หายใจออก”;
-----------
ภิกษุทั้งหลาย ! สมัยนั้น ภิกษุนั้นชื่อว่า 
เป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลายอยู่เป็นประจำ 
มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ 
มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลกออกเสียได้.
ภิกษุทั้งหลาย ! ภิกษุนั้น 
เป็นผู้เข้าไปเพ่งเฉพาะเป็นอย่างดีแล้ว 
เพราะเธอเห็นการละอภิชฌา และโทมนัสทั้งหลายของเธอนั้นด้วยปัญญา.
-------------------------
ภิกษุทั้งหลาย ! เพราะเหตุนั้นในเรื่องนี้ ภิกษุนั้น 
ย่อมชื่อว่าเป็นผู้เห็นธรรมในธรรมทั้งหลาย อยู่เป็นประจำ มีความเพียรเผากิเลส มีสัมปชัญญะ มีสติ นำอภิชฌาและโทมนัสในโลก ออกเสียได้.
ภิกษุทั้งหลาย! อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างนี้ ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล ชื่อว่าทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์ได้.
-------
พุทธวจน อานาปานสติ หน้า ๓๐
(ภาษาไทย) อุปริ. ม. ๑๔/๑๕๖/๒๘๙
http://etipitaka.com/read?language=thai&number=156&volume=14

โพชฌงค์ ๗

      ดูกรภิกษุทั้งหลาย  สมัยใด สติเป็นอันภิกษุเข้าไปตั้งไว้แล้ว ไม่เผลอเรอ ในสมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว  
 สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      เธอเมื่อเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่  
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง 
ถึงความพิจารณาธรรมนั้นได้ด้วยปัญญา ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด ภิกษุเป็นผู้มีสติอย่างนั้นอยู่ 
ย่อมค้นคว้า ไตร่ตรอง 
ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา
ในสมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว  
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญ
และความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      เธอ เมื่อค้นคว้า ไตร่ตรอง 
ถึงความพิจารณาธรรมด้วยปัญญาอยู่   
ย่อมเป็นอันปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
สมัยใด ภิกษุค้นคว้า ไตร่ตรอง 
ถึงความพิจารณาธรรมนั้นด้วยปัญญา 
ปรารภความเพียรไม่ย่อหย่อน
ในสมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น วิริยสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      ปีติปราศจากอามิส 
ย่อมเกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด 
ปีติปราศจากอามิส
เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้ปรารภความเพียรแล้ว
ในสมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปีติสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      ภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ย่อมมีทั้งกายทั้งจิตระงับได้ ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมัยใด 
ทั้งกายทั้งจิตของภิกษุผู้มีใจเกิดปีติ ระงับได้ในสมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   
สมัยนั้น ภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญปัสสัทธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      ภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมมีจิตตั้งมั่น ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
สมัยใด จิตของภิกษุผู้มีกายระงับแล้ว มีความสุข ย่อมตั้งมั่น
ในสมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   
สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น สมาธิสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ
      ภิกษุนั้นย่อมเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้น ได้เป็นอย่างดี ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย 
สมัยใด ภิกษุเป็นผู้วางเฉยจิตที่ตั้งมั่นแล้วเช่นนั้นได้เป็นอย่างดี
ในสมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมเป็นอันภิกษุปรารภแล้ว   
สมัยนั้นภิกษุชื่อว่าย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์
สมัยนั้น อุเบกขาสัมโพชฌงค์ย่อมถึงความเจริญและความบริบูรณ์แก่ภิกษุ ฯ......... ฯลฯ ...........
      [๒๙๑] ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างไร ทำให้มากแล้วอย่างไร
จึงบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้   
ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ 
ย่อมเจริญสติสัมโพชฌงค์ 
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ 
อาศัยนิโรธ  อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย
ย่อมเจริญธรรมวิจยสัมโพชฌงค์ ... 
ย่อมเจริญวิริยสัมโพชฌงค์ ... 
ย่อมเจริญปีติสัมโพชฌงค์ ...
ย่อมเจริญปัสสัทธิ สัมโพชฌงค์ ... 
ย่อมเจริญสมาธิสัมโพชฌงค์ ... 
ย่อมเจริญอุเบกขาสัมโพชฌงค์  
อันอาศัยวิเวก อาศัยวิราคะ อาศัยนิโรธ 
อันน้อมไปเพื่อความปลดปล่อย ฯ
      ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุที่เจริญโพชฌงค์ ๗ แล้วอย่างนี้ 
ทำให้มากแล้วอย่างนี้แล 
ชื่อว่าบำเพ็ญวิชชาและวิมุตติให้บริบูรณ์ได้ ฯ
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๑๔

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น